คู่มือสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
Sustainable Development Goals (SDGs) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดที่จะมาช่วยเหลือโลกใบนี้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าสำหรับนักคิดแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นมุมมองที่พวกเขาสามารถมองเห็นได้อย่างง่ายดาย แต่สำหรับประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าใจประเด็นเหล่านี้ได้อย่างไร ? นั้นถือเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร เนื่องจากในแต่ละประเทศมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป
Joshua Alade กรรมการบริหาร NIGERIA YOUTH SDGS จึงได้จัดทำคู่มือสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด ไอเดียสำหรับคู่มือนี้ เกิดขึ้นในปี 2019 ระหว่างการเจรจาระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นทั่ว 21 รัฐในไนจีเรีย แผนคือการพัฒนาทรัพยากรสำหรับ SDGs ของเยาวชน ผู้ที่มีความสนใจ และภาคีการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่ทศวรรษแห่งการส่งมอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
SDGs คืออะไร? SDGs คือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2030 เป้าหมายเหล่านี้คือการเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อยุติความยากจน ปกป้องโลก และทำให้ทุกคนมีความสงบสุขและความมั่งคั่ง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีแนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับทุกประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญในการพัฒนาของตนเอง เราควรจะเลือกทางเลือกที่เหมาะสมในการปรับปรุงชีวิตสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป
SDGs นั้นได้รับการรับรองจากผู้นำ 193 ประเทศทั่วโลก แต่การทำให้เกิดขึ้นจริงได้คือความรับผิดชอบของทุกคน ดังนั้นนี่จึงกลายเป็นที่มาของการจัดทำคู่มือเครื่องมือที่นำไปใช้ได้จริงเพื่อวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนในผลักดัน SDGs ดังนี้
- ช่วยให้ประชาชนเข้าใจ SDGs ดีขึ้นและพวกเขาสามารถเป็นเจ้าของเป้าหมายได้อย่างไร
- พัฒนาคู่มือที่ทำให้ผู้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
- มุ่งเป้าไปที่การทำให้เป็นจริงของ SDGs
คู่มือเหล่านี้น่าสนใจ และสามารถนำเสนอให้กับประชาชนได้จริง เนื่องจากไนจีเรียมีตัวอย่างที่ชัดเจนที่ประสบกับปัญหาที่เป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายกำลังพัฒนา เช่น ปัญหาความหิวโหยของผู้คนภายในประเทศซึ่งมีผลเกี่ยวเนื่องไปสู่การมีปัญหาสุขภาพและการมีชีวิตที่ดี นอกจากนี้ยังเกี่ยวโยงกับปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาภายในประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนามนุษย์และเศรษฐกิจภายในอนาคต ปัญหาเกี่ยวกับความไม่สงบและการขาดความยุติธรรมภายในประเทศไนจีเรียก็เป็นปัญหาที่ส่งผลโดยตรงต่อการแก้ไขของแนวคิด SDGs ได้ ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากตัวอย่างนี้ได้อีกด้วย
คู่มือ The SDGs PlayBook : NIGERIA YOUTH SDGS NETWORK ประสบความสำเร็จอย่างน่าเหลือเชื่อ เนื่องจากหลายปัญหาในหลายรัฐของไนจีเรียพัฒนาไปในด้านที่ดีขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- เป้าหมายที่ 2 No Hunger หรือ ขจัดความหิวโหย ในรัฐ Ogun เกิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับการทำฟาร์มปศุสัตว์ให้ดีขึ้น ในรัฐ Gombe มีการใช้วิธีการนำเสนอแบบสมัยใหม่และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น
- เป้าหมายที่ 3 Good Health & Well-being หรือ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยในรัฐ Kano มีการสนับสนุนให้เกิดบริการการดูแลสุขภาพแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่การสร้างการเข้าถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนมากขึ้น ผ่านการใช้แอปพลิเคชั่นมือถือ ในรัฐ Delta
- และสำหรับเป้าหมายที่ 4 Quality Education หรือ การศึกษาที่มีคุณภาพ มีการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่ไม่เสียค่าใช่จ่ายใด ๆ ภายในรัฐ Kano และ Gombe นอกจากนี้ยังมีการให้ทุนการศึกษาจำนวนมาก ในรัฐ Benue
จากที่ระบุมาเป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นของความสำเร็จเท่านั้น เนื่องจากยังมีอีกหลายความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากคู่มือนี้ อาทิ เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุนในการพัฒนาความสามารถของมนุษย์ที่มากขึ้น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ลิงก์ดังต่อไปนี้ https://www.un.org/sustainabledevelopment/wp-content/uploads/2021/08/NGYouthSDGs-Playbook.pdf
เรียบเรียงโดย นายพิชิต ฉายศิริกุล