เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานร่วมกับนางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และ นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNRC) ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสามฝ่าย (Tripartite Steering Committee) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNSDCF) วาระปี พ.ศ. 2565 – 2569 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
กรอบความร่วมมือ UNSDCF เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสหประชาชาติที่เเสดงถึงการดำเนินงานของระบบสหประชาชาติตามบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงานในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้บรรลุผลสำเร็จตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยส่งเสริมให้เกิดการพลิกโฉมประเทศสู่การมีเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีการพัฒนาทุนมนุษย์ และลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรรม เพื่อความเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสอดคล้องและสนับสนุนความมุ่งหมายของประเทศไทยในการพัฒนาประเทศทั้งยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และนโยบายเศรษฐกิจ BCG
ในการประชุมฯ ผู้แทนหน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทยได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามกรอบ UNSDCF และร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อแนวทางการขับเคลื่อนผลลัพธ์ทั้ง 3 ด้านของกรอบความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย ผลลัพธ์ที่ 1 การพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ครอบคลุม บนฐานการพัฒนาสีเขียว มีภูมิคุ้มกันวิกฤตสูง และมีความยั่งยืน โดยมีองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เป็นผู้ประสานงานหลักในการส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐาน BCG สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ เพิ่มความสามารถในการปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งมีการดำเนินโครงการส่งเสริมการรักษาป่าไม้อย่างยั่งยืน การลดการปล่อยคาร์บอน และการแก้ปัญหาพลาสติก ผลลัพธ์ที่ 2 การพัฒนาทุนมนุษย์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาทางสังคม ที่ผู้คนได้ประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง โดยมีองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ร่วมด้วยองค์การอนามัยโลก (WHO) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เป็นผู้ประสานงานหลัก ซึ่งให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพและลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีตัวอย่างโครงการที่ดำเนินการร่วมกับ สศช. อาทิ การจัดทำดัชนีความยากจนหลายมิติของเด็ก (Child Multidimensional Poverty Index: Child MPI) ผลลัพธ์ที่ 3 ประชาชนในประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ โดยมีโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เป็นผู้ประสานงานหลัก ซึ่งเน้นส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาความยากจน การลดเหลื่อมล้ำ การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และการป้องกันการค้ามนุษย์ โดยมีการดำเนินโครงการห้องปฏิบัติการนโยบาย (Thailand Policy Lab) และโครงการส่งเสริมการใช้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการติดตามสถานการณ์และกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นต้น
โดยการขับเคลื่อนผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้านของกรอบความร่วมมือ UNSDCF มีความสอดคล้องและช่วยส่งเสริมการดำเนินงานตามกรอบการพัฒนาประเทศของไทย ซึ่ง สศช. และหน่วยงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย จะร่วมหารือถึงแนวทางในการขยายผลโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือ UNSDCF สู่การขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่และตำบล ร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ประชาชนได้รับการประโยชน์จากการพัฒนาที่มีความครอบคลุมและยั่งยืน ประเทศไทยสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
*******************
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
26 พฤษภาคม 2566