เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. ได้มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานการประชุม เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายดนุชา พิชยนันท์ เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDG Roadmap) อาทิ การจัดงานเสวนาออนไลน์ ก้าวพอดี ประจำปี 2564 ภายใต้หัวข้อ “ฟื้นตัวอย่างมั่นคง ก้าวต่ออย่างยั่งยืน” การวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายย่อยของ SDGs (SDG Target) กับเป้าหมายระดับแผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดที่ผนวกรวมกับดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับจังหวัด การประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ และการเผยแพร่รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563 ซึ่งบ่งชี้ว่าไทยมีความคืบหน้าที่สำคัญในหลายด้าน
ขณะเดียวกันที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะต่อไปเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ โดยยึดหลักวงจรบริหารงานคุณภาพ (PDCA) ซึ่งประกอบไปด้วย การวางแผน (Plan) การปฏิบัติ (Do) การตรวจสอบ (Check) และการปรับปรุงการดำเนินงาน (Act)
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการและคณะทำงานภายใต้ กพย. เพื่อความเป็นเอกภาพในการดำเนินงานของภาครัฐ ลดความซ้ำซ้อนในภารกิจและงบประมาณ โดยให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะอนุกรรมการพลังเยาวชนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของไทยในกรอบสหประชาชาติ และให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ผนวกไปในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การขับเคลื่อน SDGs ของไทยยังคงมีความคืบหน้าในหลายด้าน อาทิ การจัดให้มีระบบสาธารณสุขถ้วนหน้าและอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ทำให้ไทยมีความคืบหน้าสำคัญตามเป้าหมายที่ 3 การจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ร่วมกับกลไกคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ที่ช่วยส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมายที่ 10 และการสร้างความเสมอภาคทางด้านการศึกษา และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ทำให้ไทยมีความคืบหน้าตามเป้าหมายที่ 4 และ 10
ดาวน์โหลดเอกสารระเบียบวาระการประชุม ได้ที่ https://bit.ly/3yNioCb หรือ QR code ที่อยู่ด้านล่างนี้