You are currently viewing การประชุม SDG Localization: Thailand’s Journey Towards Sustainability ณ หอประชุม ESCAP HALL ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุม SDG Localization: Thailand’s Journey Towards Sustainability ซึ่งจัดโดยกระทรวงมหาดไทยร่วมกับ UNDP ณ หอประชุม ESCAP HALL ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

          โดยในงานประชุมนี้ได้มีการเปิดตัวรายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับจังหวัด และมีการปาฐกถาพิเศษโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และมีวิทยากรร่วมบรรยายในงาน อาทิ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และนายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP)

          ในการนี้ รองเลขาธิการฯ ได้บรรยายสรุปในหัวข้อ “ประเทศไทยการขับเคลื่อนเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เชื่อมโยง SDGs เข้ากับแผนทั้ง 3 ระดับของประเทศ ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย และกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อน SDGs ระดับพื้นที่่โดยรองเลขาธิการฯ ได้นำเสนอระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งเป็นระบบที่สามารถระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชนท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ทำให้การแก้ปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยในขณะนี้สภาพัฒน์ได้มีการจัดเก็บข้อมูลร่วมกับจังหวัดบึงกาฬ ในการจัดทำ Local Census เพื่อให้พื้นที่สามารถจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้พื้นที่สามารถมีข้อมูลในระดับพื้นที่ ซึ่งจำเป็นต่อการออกแบบมาตรการสำหรับการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและแม่นยำ นอกจากนี้ยังได้มีการดำเนินโครงการส่งเสริมเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา การทำงานหรือการฝึกอบรม (NEETs) เพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็ก/เยาวชน และดึงให้กลับสู่ระบบการศึกษาหรือระบบเศรษฐกิจ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วในตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

          การดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายที่ 1 ลดความยากจน เป้าหมายที่ 4 เข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง เป้าหมายที่ 8 มีงานที่ดี และเศรษฐกิจที่เติบโต และเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ โดยทั้งโครงการ TPMAP และ NEETs นับเป็นตัวอย่างในการให้ความสำคัญในเรื่องข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ รองเลขาธิการฯ ได้เน้นย้ำความสำคัญในเรื่องข้อมูล SDGs โดยหกปีที่เหลือจนถึงปี 2573 ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการที่ทำให้เกิดความยั่งยืน โดยสภาพัฒน์มีความตั้งใจที่จะให้ปี 2567 เป็นปีแห่งข้อมูล SDGs (SDGs Data Day) โดยจัดเก็บข้อมูลในระดับพื้นที่และในระดับส่วนกลาง เพื่อนำไปสู่วาระของการพัฒนาต่อไปในอนาคต ซึ่งสภาพัฒน์และหน่วยงานทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่จะร่วมมือกันและนำข้อมูลที่มีมาใช้พัฒนาพื้นที่ “เพื่อปิดจุดอ่อน และเสริมสร้างจุดแข็ง” และพัฒนาจาก “พื้นที่นำร่อง” ขยายผลไปสู่ “ทุกพื้นที่” เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภาพ : UNDP