
บทนำ จากเศษขยะสู่ภัยคุกคามระดับโลก
ถุงพลาสติกที่ถูกใช้เพียงไม่กี่นาที อาจล่องลอยอยู่ในทะเลนานนับศตวรรษ และกลายเป็นเศษไมโครพลาสติกในตัวปลา ซึมผ่านเกลือที่เรากิน และย้อนกลับมาสู่ร่างกายของเรา ขยะพลาสติกในทะเลจึงไม่ใช่เพียงปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่คือวงจรการปนเปื้อนที่เชื่อมโยงกับชีวิตของทุกคน บทความนี้ชวนสำรวจเส้นทางของพลาสติก ตั้งแต่การจัดการขยะบนแผ่นดินไปจนถึงแพขยะกลางมหาสมุทร ติดตามผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและเศรษฐกิจที่ซ่อนอยู่ใต้คลื่น และร่วมพิจารณาแนวทางรับมือที่เริ่มต้นจากต้นน้ำ ไม่ใช่ปลายน้ำ
ตอนที่ 1 พลาสติกเดินทางจากมือเราไปสู่ทะเลได้อย่างไร
ในแต่ละวันขยะพลาสติกจากผู้คนทั่วโลกไหลลงสู่ทะเลจากพฤติกรรมเล็ก ๆ ที่เรามองข้าม เช่น การทิ้งขยะไม่เป็นที่ การจัดการขยะไม่เหมาะสมตั้งแต่ถังขยะริมถนนในเมืองใหญ่ไปจนถึงชุมชนเล็ก ๆ ที่ไม่มีระบบกำจัดของเสียที่เหมาะสม ปริมาณพลาสติกที่มนุษย์ใช้ยังคงเพิ่มขึ้นไม่หยุด และการจัดการขยะที่ล้มเหลวในหลายพื้นที่กำลังผลักดันให้วิกฤตนี้รุนแรงขึ้น ทุก ๆ ปี มนุษย์ผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านเมตริกตัน[1] เทียบได้กับน้ำหนักรวมของมนุษย์ทุกคนบนโลกทั้งใบ พลาสติกเหล่านี้บางส่วนเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เพียงไม่กี่นาที แต่หลงเหลืออยู่ในธรรมชาตินับร้อยปี และระหว่างทางอาจแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกที่เล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
แม้จะมีเพียงน้อยกว่า 0.5% ของพลาสติกที่ผลิตถูกทิ้งอย่างไม่เหมาะสมจนหลุดรอดสู่มหาสมุทร แต่ตัวเลขนี้หมายถึงว่ายังมีพลาสติกมากกว่า 1 ล้านเมตริกตันที่ไหลลงสู่ทะเลทุกปี ซึ่งเพียงพอจะก่อตัวเป็นเกาะขยะลอยน้ำขนาดมหึมา และทำลายระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว นี่จึงไม่ใช่เพียงปัญหาของทะเลแต่เป็นวิกฤตระดับโลกที่บั่นทอนทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพของเราโดยตรง
[1] เมตริกตัน คือ หน่วยวัดมวลในระบบเมตริก โดยมีค่าเท่ากับ 1,000 กิโลกรัม
- บทบาทของแม่น้ำ เมืองชายฝั่งในการพาพลาสติกสู่ทะเล
เส้นทางของขยะพลาสติกจากมือมนุษย์สู่ทะเลไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ เป็นผลลัพธ์ของโครงสร้างพื้นฐานการจัดการขยะและพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างภูมิภาคทั่วโลก พลาสติกทั่วโลกเพียง 9% เท่านั้นที่ได้รับการรีไซเคิล ในขณะที่อีกประมาณ 22% กลายเป็นขยะที่ไม่มีใครเก็บ หรือตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยไม่ผ่านการจัดการอย่างเหมาะสม
ประเทศที่มีรายได้สูงอาจดูเหมือนเป็นผู้ใช้พลาสติกหลักของโลก และความจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่ระบบจัดการขยะในประเทศเหล่านี้มักมีประสิทธิภาพสูง ทำให้พลาสติกจำนวนมหาศาลที่ถูกใช้ไม่หลุดรอดออกสู่ธรรมชาติ ในทางกลับกัน ประเทศที่มีรายได้น้อยแม้จะใช้พลาสติกน้อยกว่า แต่ด้วยความขาดแคลนของระบบกำจัดขยะ ทำให้ยังคงมีช่องโหว่ต่อมลพิษจากพลาสติกอย่างไม่อาจมองข้าม อย่างไรก็ตาม แหล่งปล่อยมลพิษ ที่น่ากังวลที่สุดกลับอยู่ที่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ที่ซึ่งการใช้พลาสติกกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการขยะกลับยังไม่ทันกับการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ความไม่สมดุลนี้ได้กลายเป็นจุดเปราะบางที่สุดของวงจรการปนเปื้อนในระดับโลก
โดยในสภาพอากาศปกติ แม่น้ำทำหน้าที่เป็นทางเดินของน้ำ แต่เมื่อฝนตกหนัก พลาสติกที่อยู่บนท้องถนน หรือริมคลอง จะถูกพัดพาลงแม่น้ำในปริมาณที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เหตุการณ์ฝนตกสามารถเพิ่มการปล่อยพลาสติกได้มากถึง 10 เท่า ภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แม่น้ำจึงกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่นำพลาสติกจากแผ่นดินสู่ท้องทะเล แต่ไม่ใช่ว่าพลาสติกทุกชิ้นที่ล่องลอยในแม่น้ำจะไปถึงมหาสมุทร พลาสติกจำนวนมากจมลงระหว่างทาง หรือติดค้างอยู่ตามตลิ่งและก้นแม่น้ำ อย่างไรก็ตาม ยิ่งพลาสติกอยู่ใกล้แม่น้ำ และแม่น้ำนั้นอยู่ใกล้ทะเลมากเท่าไร โอกาสที่จะไหลถึงมหาสมุทรก็ยิ่งสูงขึ้น มีการระบุว่าแม่น้ำเพียง 1,000 สายจากทั่วโลกเป็นต้นทางของการปล่อยพลาสติกเกือบ 80% ที่ไหลลงสู่มหาสมุทร
- ขยะพลาสติกในทะเลไม่ได้เกิดจากทะเลแต่เริ่มต้นจากแผ่นดิน
พลาสติกเป็นวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ในแต่ละปี โลกผลิตพลาสติกมากกว่า 300 ล้านตัน โดยที่ครึ่งหนึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด หากไม่มีระบบจัดการที่ดี จะมีพลาสติกอย่างน้อย 14 ล้านตันลงสู่มหาสมุทร ตัวเลขนี้อาจดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการผลิตทั้งหมด แต่ผลกระทบของมันกลับมหาศาล เศษพลาสติกซึ่งกลายเป็นภาพคุ้นตาในท้องทะเลคิดเป็น ประมาณ 80% ของขยะทะเลทั้งหมด พบได้ตั้งแต่ผิวน้ำ ชายหาด ไปจนถึงแนวปะการัง โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวและเขตที่มีประชากรหนาแน่น
แม้จะพบพลาสติกล่องลอยอยู่กลางมหาสมุทร แต่ที่จริงแล้วแหล่งกำเนิดหลักของพลาสติกในทะเลมาจากบนบก ไม่ว่าจะเป็นระบบระบายน้ำของเมือง น้ำเสียจากครัวเรือน กิจกรรมอุตสาหกรรม ซึ่งขยะที่ถูกทิ้งไม่เป็นที่มักจะถูกน้ำฝนชะล้างลงคลองและแม่น้ำก่อนจะไหลสู่ทะเล นอกจากนี้ มลพิษพลาสติกที่เกิดจากกิจกรรมในทะเล เช่น การประมง การขนส่งทางน้ำ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการป้อนขยะเข้าสู่ระบบนิเวศทางทะเล
เมื่อพลาสติกเหล่านี้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นบนบกหรือในทะเล กระบวนการแปรสภาพจะค่อย ๆ เริ่มขึ้น ท่ามกลางแสงแดด สายลม และคลื่น พลาสติกจะไม่สลายหายไป แต่จะแตกตัวกลายเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่เรียกว่าไมโครพลาสติก (เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร) หรือในที่สุดกลายเป็นนาโนพลาสติก (เล็กกว่า 100 นาโนเมตร) ซึ่งขนาดเล็กระดับนี้ทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลสามารถกลืนกินโดยไม่รู้ตัว และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปนเปื้อนที่ยากจะย้อนกลับ
- กลไกการสะสมของขยะพลาสติกในกระแสน้ำวน แพขยะขนาดใหญ่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก
กลางมหาสมุทรระหว่างฮาวายกับแคลิฟอร์เนีย มีพื้นที่หนึ่งที่ไม่ปรากฏบนแผนที่ท่องเที่ยว แต่กลับเป็นจุดศูนย์รวมของขยะพลาสติกมหาศาล นั่นคือ แพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) เนื่องจากพลาสติกส่วนใหญ่มีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำ จึงลอยอยู่ผิวน้ำและถูกพัดเข้าสู่ศูนย์กลางของกระแสน้ำวนที่หมุนเวียนและพัดพาเอาพลาสติกจากทั่วโลกมาสะสมจนกลายเป็นแพขยะขนาดใหญ่
การศึกษาโดย The Ocean Cleanup พบว่า แพขยะนี้กินพื้นที่ราว 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือเทียบได้กับพื้นที่ของฝรั่งเศส 3 เท่า ข้อมูลนี้ได้จากการเก็บตัวอย่างโดย เรือ 30 ลำ ตาข่าย 652 จุด และการบินสำรวจทางอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นภาพรวมของขยะที่ลอยอยู่ โดยภายในแพขยะมีพลาสติกมากกว่า 1.8 ล้านล้านชิ้น น้ำหนักรวมประมาณ 100,000 ตัน หรือเท่ากับเครื่องบินโบอิ้ง 777 กว่า 740 ลำ ตัวเลขนี้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 4 ถึง 16 เท่า โดยบริเวณใจกลางจะมีความหนาแน่นของขยะสูงที่สุด ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญทางธรรมชาติ แต่คือผลลัพธ์ของการจัดการขยะที่ล้มเหลวของมนุษย์ ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงมหาสมุทรให้กลายเป็นที่พักพิงของพลาสติกอย่างถาวร
หลังจากพลาสติกรั่วไหลลงสู่ทะเล กระบวนการกระจายตัวไม่ได้เกิดขึ้นแบบไร้ทิศทาง งานวิจัยพบว่า ประมาณ 80% ของพลาสติกลอยน้ำจะถูกพัดกลับขึ้นฝั่งภายในหนึ่งเดือน ขณะที่พลาสติกอีกจำนวนหนึ่งอาจจมลงสู่ก้นทะเลทันที โดยเฉพาะพลาสติกชนิดที่มีความหนาแน่นต่ำซึ่งดูดซับน้ำได้เร็ว อย่างขวด PET[2] เมื่อเต็มไปด้วยน้ำจะจมได้ง่าย ส่วนฝาขวดที่เบากว่าและทนต่อการจมน้ำได้ดี มีแนวโน้มที่จะล่องลอยอยู่นานและเดินทางไกลกว่าชนิดอื่น
[2] ขวด PET คือ ขวดพลาสติกจากวัสดุ Polyethylene Terephthalate มีน้ำหนักเบา เหนียว ทนทาน ยืดหยุ่นต่อแรงกระแทก มีความใส มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้งานเพียงครั้งเดียวแต่ก็สามารถนำมาใช้ได้อีก และรีไซเคิลได้ง่าย

ที่มา: The Ocean Cleanup (2025)
ตอนที่ 2 พลาสติกในมหาสมุทรและผลกระทบที่ลุกลามทุกมิติ
พลาสติกที่สะสมในแพขยะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ค่อย ๆ แตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกขนาดเล็กลงจากแสงแดด สายลม และคลื่น ไมโครพลาสติกกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทะเล สุขภาพสัตว์ทะเล และคุณภาพอาหารทะเลที่มนุษย์บริโภค นอกจากนี้ยังกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ เศรษฐกิจการท่องเที่ยวชายฝั่ง และเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ผลกระทบของพลาสติกต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศทางทะเล
ผลกระทบของพลาสติกต่อสัตว์ทะเลปรากฏอย่างชัดเจนในทุกมิติของห่วงโซ่อาหาร เศษพลาสติกในทะเลถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารโดยสัตว์นานาชนิด ทั้งนกทะเล แมวน้ำ ปลา และเต่าทะเล การกลืนกินพลาสติกทำให้สัตว์เหล่านี้รู้สึกอิ่มโดยปราศจากสารอาหาร จนถึงขั้นอดตาย อาจสำลักหรือได้รับบาดเจ็บภายใน ขณะเดียวกันก็สูญเสียความสามารถในการว่ายน้ำหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
บริเวณแพขยะในแปซิฟิกที่ลอยอยู่บนผิวน้ำมีพลาสติกจำนวนมากกว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลถึง 180 เท่า ส่งผลให้สัตว์ที่อาศัยหรืออพยพผ่านพื้นที่ดังกล่าวมีแนวโน้มสูงที่จะกินพลาสติกเข้าไป ในบางกรณี เมื่อวิเคราะห์สิ่งที่อยู่ในกระเพาะของเต่าทะเล พบว่า มีพลาสติกในกระเพาะมากถึง 74%
นอกจากนี้ เศษอวนจับปลาที่ถูกทิ้งร้าง หรือ อวนผี คิดเป็น 46% ของมวลรวมในแพขยะนี้ สิ่งมีชีวิตในทะเลที่ว่ายน้ำหรือเคลื่อนไหวผ่านอวนเหล่านี้มีแนวโน้มจะติดพัน ไม่สามารถหลุดรอด และมักเสียชีวิตลงในที่สุด การพันติดพลาสติกจึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของความตายที่ซ่อนอยู่ในมหาสมุทร
- การแพร่กระจายของไมโครพลาสติก และผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์
ไมโครพลาสติกถูกตรวจพบในน้ำประปา เกลือ และมหาสมุทรทุกแห่ง รวมถึงในรกของมนุษย์ แม้จะยังต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินความแพร่หลาย แต่การค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงระดับของการปนเปื้อนที่ลุกลาม อีกทั้ง สารเคมีที่ใช้ในการผลิตพลาสติกบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็งและรบกวนระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาทและภูมิคุ้มกัน ทั้งในมนุษย์และสัตว์
นอกจากนี้พลาสติกดูดซับสารพิษจากน้ำทะเล และเมื่อสัตว์กินพลาสติกเข้าไป สารพิษเหล่านี้จะสะสมในระบบย่อยอาหาร และไหลเวียนต่อไปในห่วงโซ่อาหาร การถ่ายโอนสารพิษจากสัตว์ทะเลสู่มนุษย์ จึงเป็นความเสี่ยงที่อยู่ระหว่างการศึกษาต่อไป
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากพลาสติกในทะเล
ไมโครพลาสติกสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่า 6 – 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ครอบคลุมผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด โดยแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยพลาสติกย่อมลดทอนความน่าสนใจ ส่งผลต่อรายได้ของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ พลาสติกยังสร้างต้นทุนซ่อนเร้นทางสุขภาพและระบบนิเวศ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างครบถ้วน ดังนั้น การจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง จึงมีประสิทธิภาพมากกว่าการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วในทะเลอย่างมาก
- พลาสติกกับการเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พลาสติกไม่ได้แค่ทำลายท้องทะเล แต่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อพลาสติกถูกเผา จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน จากหลุมฝังกลบออกสู่ชั้นบรรยากาศ เพิ่มระดับของมลพิษและเร่งปฏิกิริยาเรือนกระจก

ที่มา: The Ocean Cleanup (2025)
ตอนที่ 3 การแก้ขยะทะเลต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางไม่ใช่แค่ปลายทาง
การต่อสู้กับขยะทะเลไม่ใช่ภารกิจที่สามารถพึ่งเพียงมาตรการจัดการปลายทางได้อีกต่อไป แต่ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางของปัญหา นั่นคือ กระบวนการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคที่ส่งผลให้ขยะทะเลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความพยายามในการลดปริมาณขยะในทะเลมานานหลายปี การฟื้นฟูทะเลก็ยังไม่ทันกับอัตราการบริโภค
ในระดับโลก สหประชาชาติได้กำหนดวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) โดยเฉพาะ เป้าหมายที่ 14 ว่าด้วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งระบุไว้ชัดเจนใน เป้าหมายย่อย 14.1 ว่าให้ป้องกันและลดมลพิษในทะเลอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะมลพิษจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะพลาสติกและธาตุอาหารเกินความจำเป็นที่หลุดรอดลงทะเล
แต่เป้าหมายระดับโลกไม่อาจบรรลุได้หากขาดความร่วมมือในระดับภูมิภาค ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน (Bangkok Declaration on Combating Marine Debris in ASEAN Region) ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเลเมื่อปี 2019 โดยเน้นการร่วมมือปกป้องสิ่งแวดล้อมชายฝั่งและทะเล สนับสนุนการวิจัย นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างกลไกที่ยั่งยืนในการรับมือกับขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน กรอบปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล (ASEAN Framework of Action on Marine Debris) ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2020 เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่สำคัญ กรอบนี้มุ่งส่งเสริมการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค การสนับสนุนทางวิชาการและนวัตกรรมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อวางรากฐานให้กับนโยบายระยะยาวในการจัดการขยะทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ
คำกล่าวของ Dato Lim Jock Hoi อดีตเลขาธิการอาเซียน ตอกย้ำภาพรวมของปัญหานี้อย่างชัดเจนว่า

ที่มารูปภาพ : UN Women (2021)
ประเทศไทยแม้จะปรับอันดับจากประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลกในปี 2015 มาอยู่ที่อันดับ 10 ในปี 2021 แต่ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดการปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อยกระดับการดำเนินการอย่างจริงจัง ประเทศไทยจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมีโครงสร้างที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แบ่งออกเป็น 4 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการที่ 1 การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการที่ 2 การลดขยะพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค มาตรการที่ 3 การจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค และมาตรการที่ 4 การจัดการขยะพลาสติกในทะเล
ซึ่งแผนนี้ถูกผลักดันสู่การปฏิบัติจริงด้วยกลไกที่ชัดเจน ทั้งการรณรงค์ การสร้างความเข้าใจร่วมในสังคม การตั้งคณะทำงานเฉพาะด้าน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณและความร่วมมือระหว่างประเทศ ผ่านเครื่องมือทางการเงินและโครงการสนับสนุนระหว่างประเทศ เพื่อให้การจัดการขยะพลาสติกมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
หนึ่งในตัวอย่างนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมคือ SCG – DMCR Litter Trap ทุ่นดักขยะลอยน้ำที่พัฒนาร่วมกันระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) โดยทุ่นดังกล่าวสามารถรองรับน้ำหนักขยะได้ถึง 700 กิโลกรัมต่อตัว และมีอายุการใช้งานกว่า 25 ปี ด้วยวัสดุ HDPE เกรดพิเศษที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด ปัจจุบันได้ติดตั้งแล้วในพื้นที่ 17 จังหวัด และสามารถลดขยะทะเลได้กว่า 90 ตัน ตั้งแต่ปี 2020
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวว่า

ที่มารูปภาพ : สสส. (2024)
เมื่อมองในภาพรวมจะเห็นได้ว่า การจัดการขยะทะเลไม่อาจรอเพียงมาตรการทางปลายทางอย่างการเก็บขยะในทะเลหรือบนชายฝั่งเท่านั้น แต่จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างตั้งแต่ต้นทางให้ครอบคลุมการผลิต การบริโภค การสร้างจิตสำนึกของสาธารณะ และการประสานความร่วมมือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญทุกมาตรการจะไร้ความหมาย หากไร้แรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนของสังคม
บทสรุป ขยะพลาสติกในทะเลไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลสะท้อนความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างพฤติกรรมเล็ก ๆ ของเรากับผลกระทบที่ขยายตัวไปไกลถึงระดับมหภาค ขยะพลาสติกไม่ได้เริ่มต้นจากท้องทะเล และไม่ควรจบลงในทะเล เพราะขยะทุกชิ้นที่หลุดรอดจากการจัดการ ล้วนมีโอกาสแทรกซึมสู่ปลาในจาน เกลือบนโต๊ะอาหาร ตลอดจนในชีวิตประจำวันที่เรามีการบริโภค
แม้วันนี้จะมีข้อมูล มีงานวิจัย และกรณีศึกษามากมายรองรับ แต่การขาดกลไกที่เข้มแข็งและความร่วมมือที่จริงจัง ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพลิกสถานการณ์ ทะเลไม่อาจรอการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ได้อีกต่อไป การรับมือกับวิกฤตนี้จำเป็นต้องเริ่มต้นจากโครงสร้างนโยบาย ระบบจัดการ และทัศนคติของสังคมโดยรวม ไม่ใช่เพียงแค่ถุงผ้าในมือของผู้บริโภค
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เอกสารอ้างอิง
IUCN. (2024). Marine Plastic Pollution: Issues Brief. Retrieved from https://iucn.org/sites/default
/files/2024-04/marine-plastic-pollution-issues-brief_nov21-april-2024-small-update_0.pdf
MATH.net. (n.d.). Metric ton. Retrieved from https://www.math.net/metric-ton
NBT CONNEXT. (2568). กระทรวงทรัพย์ฯ ยกระดับการจัดการขยะทะเล-ฟื้นฟูระบบนิเวศ มอบ ทช.ร่วมมือภาคีเครือข่าย บริหารจัดการปัญหาขยะทะเลด้วยนวัตกรรมใหม่ “ทุ่นดักขยะ SCGC – DMCR Litter Trap Gen 3”. สืบค้นจาก https://thainews.prd.go.th/thainews/news/view/876572/?bid=1
Recycle Day Thailand. (2019). ขวด PET คืออะไร?. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/a8duF
The Ocean Cleanup. (2024). Ocean plastic pollution explained. Retrieved from https://theoceancleanup.com/ocean-plastic-pollution-explained/
The Ocean Cleanup. (2025). The Great Pacific Garbage Patch. Retrieved from https://theoceancleanup.com/great-pacific-garbage-patch/
UN Women Asia and the Pacific. (2021). Message from H.E. Dato Lim Jock Hoi, Secretary-General of ASEAN, highlighting ASEAN’s commitment to advance Women, Peace and Security agenda. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=KwGvfOyNqgg
World Bank. (2021). ASEAN Member States Adopt Regional Action Plan to Tackle Plastic Pollution. Retrieved from https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2021/05/28/asean-member-states-adopt-regional-action-plan-to-tackle-plastic-pollution
กรมควบคุมมลพิษ. (2566). แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570). สืบค้นจาก https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/63530
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2567). ครั้งแรกของไทย สสส. สานพลังภาคีฯ “ประกาศปฏิญญาเกาะลันตา” ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ แก้ปัญหาขยะทะเล-ชายฝั่งกัดเซาะ. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/Gfa7l