
เมื่อเมืองใหญ่เต็มไปด้วยปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษ และความเหลื่อมล้ำ ทางเลือกอย่างการเดินเท้าและการปั่นจักรยานกลับถูกมองข้ามจากสายตาผู้กำหนดนโยบาย ทั้งที่ทางเลือกเหล่านี้อาจเป็นกุญแจสำคัญสู่เมืองที่ปลอดภัย เป็นธรรม และน่าอยู่สำหรับทุกคน
บทความนี้ชวนสำรวจว่า ทำไมการเดินและการปั่นจักรยานจึงไม่ใช่แค่กิจกรรมยามว่าง หากแต่เป็นหัวใจของเมืองที่ยั่งยืน ทั้งในแง่สุขภาพ ความเท่าเทียม และสิ่งแวดล้อม พร้อมชวนตั้งคำถามว่า ทำไมความเสี่ยงที่ผู้ใช้ถนนกลุ่มนี้ต้องเผชิญอย่างไม่เป็นธรรมจึงกลับถูกละเลย
เมื่อการเดินและการปั่นจักรยานกลายเป็นหัวใจของเมืองที่ยั่งยืน
ในโลกที่เมืองใหญ่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเดินและการปั่นจักรยานได้กลับมาเป็นคำตอบสำคัญ ในวันที่ความเป็นอยู่ของผู้คนกำลังถูกท้าทายด้วยการจราจรติดขัด ปัญหาสุขภาพ และวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น รูปแบบการเดินทางที่ดูเรียบง่ายนี้ ไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมทางสังคมในระดับโครงสร้าง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก อย่างไรก็ตาม ภาพของการเดินเท้าและการใช้จักรยานในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นกลับเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผู้ใช้ถนนกลุ่มนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งที่เปราะบางที่สุด เมื่อเทียบกับผู้ขับขี่ยานยนต์ เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เสียชีวิต และบาดเจ็บมากที่สุด จากถนนที่ออกแบบโดยเน้นรถยนต์เป็นศูนย์กลาง สิ่งนี้สะท้อนถึงโครงสร้างของเมืองที่ยังไม่ปลอดภัย
เนื่องในวาระสัปดาห์ความปลอดภัยทางถนนโลกครั้งที่ 8 ขององค์การสหประชาชาติ (8th UN Global Road Safety Week) ซึ่งจัดขึ้นในปี 2025 ภายใต้หัวข้อ “ทำให้การเดินและการปั่นจักรยานปลอดภัย” องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่รายงานสำคัญ Promoting walking and cycling: a toolkit of policy options รายงานฉบับนี้ไม่เพียงเสนอแนวทางการออกแบบเมือง แต่ยังเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายสำหรับการเปลี่ยนผ่านระบบขนส่งให้คำนึงถึงมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ที่จะทำให้การเดินและการปั่นจักรยานกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งอย่างแท้จริง โดยเน้นว่าการเดินและการปั่นจักรยานไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกของผู้ที่ไม่มีทางเลือก หากแต่คือการลงทุนระยะยาวที่สร้างผลตอบแทนให้แก่ทั้งเมืองและประชาชนในหลายมิติ
ความสำคัญของการส่งเสริมการเดินและการปั่นจักรยานไม่ได้จำกัดแค่เรื่องสุขภาพ แต่ครอบคลุมถึงประเด็นทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในภาพรวมเมืองที่เอื้อต่อการเดินทางอย่างยั่งยืนสามารถลดต้นทุนทางสาธารณสุข โดยสุขภาพของประชากรจะดีขึ้นเมื่อพวกเขาได้ขยับร่างกายมากขึ้นในชีวิตประจำวัน การเดินและการปั่นจักรยานช่วยลดอัตราโรคไม่ติดต่ออย่างโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคอ้วน ในขณะเดียวกันก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดความจำเป็นในการใช้พลังงานจากฟอสซิล ซึ่งเป็นจุดร่วมสำคัญกับความพยายามต่อสู้กับภาวะโลกร้อนของนานาประเทศ
“การเดินและการปั่นจักรยานช่วยพัฒนาสุขภาพและทำให้เมืองมีความยั่งยืนมากขึ้น ทุกย่างก้าวและการปั่นทุกครั้งช่วยลดความแออัด มลพิษทางอากาศ และโรคภัยไข้เจ็บ” ดร. เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าว พร้อมย้ำว่าการส่งเสริมการใช้จักรยานหรือการเดินเท้านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากยังละเลยเงื่อนไขพื้นฐานที่สุด นั่นคือ “ความปลอดภัย”

ที่มารูปภาพ : UNAIDS (2017)
ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างเมืองให้ปลอดภัยสำหรับการเดินและการปั่นจักรยานไม่ใช่เรื่องของความสะดวกสบายเท่านั้น แต่มันคือการฟื้นฟูศักดิ์ศรีและสิทธิของผู้ใช้ถนนทุกรูปแบบอย่างเท่าเทียม เป็นการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ลดอุปสรรค เพิ่มโอกาส และทำให้การเลือกทางที่ดีต่อสุขภาพกลายเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด ในท้ายที่สุด หากเมืองยังไม่ทำให้ถนนปลอดภัยสำหรับทุกคน การเดินและการปั่นจักรยานก็จะยังคงเป็นทางเลือกที่ใครหลายคนไม่กล้าเลือก และทางออกอันเรียบง่ายนี้ ก็อาจไม่มีวันกลายเป็นคำตอบที่แท้จริงของเมืองในศตวรรษที่ 21 ได้เลย
ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นบนท้องถนน สัญญาณเตือนถึงความเปราะบางของผู้ใช้ถนน
ในช่วงเวลาที่เมืองทั่วโลกต่างเร่งปรับตัวต่อความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การเดินและการปั่นจักรยานได้กลายมาเป็นทางเลือกสำคัญที่ตอบโจทย์ทั้งการเดินทางอย่างยั่งยืน สุขภาวะของประชากร และการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทว่ากลับต้องเผชิญกับอันตรายที่รุนแรงและเรื้อรัง นั่นคือ ความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน อุบัติเหตุบนท้องถนนยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและพิการในทุกภูมิภาคของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากถึง 1.2 ล้านคนต่อปี และอีกกว่า 50 ล้านคนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในจำนวนนี้ คนเดินเท้าและนักปั่นจักรยานคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ตัวเลขที่น่าตกใจนี้สะท้อนถึงความเปราะบางของผู้ใช้ถนนที่ไม่ได้ขับขี่ยานยนต์ โดยคนเดินเท้ามีสัดส่วนถึง 21% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด แต่ในระดับนโยบายกลับพบว่า มีเพียง 46 ประเทศเท่านั้นที่รายงานว่ามีนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการเดินและการปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริงในระดับโลก
แนวโน้มในระดับภูมิภาคก็ยิ่งตอกย้ำถึงความเร่งด่วนของปัญหา ตัวอย่างเช่น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ผู้เสียชีวิตที่เป็นคนเดินเท้า เพิ่มขึ้นถึง 42% ในขณะที่ภูมิภาคยุโรปเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตที่เป็นนักปั่นจักรยานถึง 50% ส่วนในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ตัวเลขนี้พุ่งสูงถึง 88%
การออกแบบนโยบายที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้เดินเท้าและนักปั่นจักรยานจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน หากยังเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างมิติด้านสุขภาพ ความเท่าเทียม และการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ การมองเห็นความปลอดภัยในมุมกว้างเช่นนี้ จะช่วยให้การเดินและการปั่นจักรยานไม่ใช่เพียง “ทางเลือก” แต่กลายเป็น “ทางหลัก” ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ที่มา : WHO (2025)
ทำไมการเดินและการปั่นจักรยานจึงเป็นหัวใจสำคัญของเมืองที่ยั่งยืน
การกลับมาทบทวนบทบาทของการเดินเท้าและการใช้จักรยานได้กลายเป็นคำถามสำคัญในเวทีนโยบายระดับโลก เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงทางเลือกในการเดินทาง แต่เป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนสุขภาวะโดยรวมของสังคม สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในระยะยาว
ด้านสุขภาพ การเดินและการปั่นจักรยานมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิต ด้วยการเปิดโอกาสให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวและเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างใกล้ชิด
ด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีความหนาแน่นของยานพาหนะสูง ช่วยการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว
ด้านความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม ช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้านเศรษฐกิจ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างงาน และเพิ่มความน่าดึงดูดของพื้นที่ ย่านที่เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยานมักดึงดูดทั้งผู้คนและธุรกิจ ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจายตัวอย่างทั่วถึงมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัยและน่าลงทุน

ที่มา : WHO (2025)
เมื่อนโยบายสร้างเมืองที่เดินและปั่นได้กลายเป็นรากฐานของความยั่งยืน
การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในเมือง เป็นกลยุทธ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน การทำให้วิถีชีวิตเหล่านี้เป็นจริงได้ จำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนที่เป็นระบบ โดยมีนโยบาย 7 ประการเป็นกลไกสนับสนุนหลัก เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยทั้งในเชิงกายภาพ สังคม และสถาบัน
1. การบูรณาการการเดินและการปั่นจักรยานเข้ากับทุกนโยบายที่เกี่ยวข้อง
เริ่มต้นจากการออกแบบนโยบายอย่างรอบด้าน โดยผนวกประเด็นการเดินและการปั่นจักรยานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนด้านการขนส่ง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ผังเมือง และการท่องเที่ยว ทั้งยังต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลได้ และสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
2. การสร้างเครือข่ายที่ปลอดภัยและเชื่อมต่อถึงกัน
เส้นทางเดินและทางจักรยานควรถูกพัฒนาให้ครอบคลุม เชื่อมโยงพื้นที่สำคัญ เช่น โรงเรียน สถานที่ทำงาน และแหล่งชุมชน พร้อมทั้งได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง การผสานพื้นที่สีเขียวและแนวคิดการออกแบบเมืองที่ยั่งยืน จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้อย่างแท้จริง
3. การออกแบบถนนและทางเท้าที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน
ถนนไม่ควรสงวนไว้เพียงเพื่อยานยนต์ การออกแบบควรยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะคนเดินเท้าและนักปั่นจักรยานทุกช่วงวัย แนวทางนี้ควบคู่ไปกับมาตรการความปลอดภัย เช่น การจำกัดความเร็วและการใช้มาตรฐานออกแบบถนนที่ลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ
4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้ถนนอย่างเป็นระบบ
นอกจากโครงสร้างพื้นฐาน พฤติกรรมผู้ใช้ถนนก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ การบังคับใช้กฎหมาย เช่น ขีดจำกัดความเร็ว การควบคุมการขับขี่ภายใต้อิทธิพล และการรณรงค์ให้ใช้ถนนอย่างปลอดภัย จึงเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการควบคู่
5. การปกป้องและจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่สำหรับผู้เดินและนักปั่น
ถนนควรถูกออกแบบให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเดินและการใช้จักรยานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างและบังคับใช้เขตคนเดินเท้า และมาตรการควบคุมการจอดรถ
6. การบูรณาการการเดินและปั่นจักรยานเข้ากับระบบการเดินทางทั้งหมด
การเดินและการปั่นจักรยานไม่ควรถูกมองแยกขาดจากระบบขนส่งอื่น แต่ควรเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางที่ไร้รอยต่อ โดยเชื่อมโยงกับการขนส่งสาธารณะและบริการร่วมเดินทาง เพื่อให้ผู้คนสามารถวางแผนการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบาย
7. การส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจเพื่อสร้างวัฒนธรรมการเดินและปั่นจักรยาน
การสร้างพฤติกรรมที่ยั่งยืน ต้องอาศัยมากกว่าการออกแบบเมือง แต่ต้องมีการส่งเสริมผ่านกิจกรรมรณรงค์ แคมเปญประชาสัมพันธ์ โครงการในที่ทำงาน โรงเรียน ตลอดจนสิ่งจูงใจทางการเงินและเชิงสังคม เพื่อให้ผู้คนรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

ที่มา : WHO (2025)
ในบริบทของประเทศไทย การพัฒนาเมืองให้เดินทางได้สะดวกและปลอดภัยไม่ใช่เพียงการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่คือการจัดระเบียบเมืองให้ตอบสนองชีวิตของผู้คน กรุงเทพมหานครจึงริเริ่มนโยบายและโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างเมืองที่เดินทางได้สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับทุกคน ได้แก่ “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ Smart City เดินทางดีและปลอดภัย” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเดินเท้า ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัว โดยมุ่งเน้นให้การเดินทางด้วยเท้าเป็นหัวใจของเมืองที่มีชีวิต ด้วยการปรับปรุงทางเท้าให้ได้มาตรฐาน เพิ่มความเชื่อมโยงของระบบขนส่ง และใช้เทคโนโลยีจราจรอัจฉริยะเข้ามาช่วยจัดการ
ในปี 2566 มีการดำเนินการที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การปรับปรุงทางเท้าแล้วกว่า 222.47 กิโลเมตร ด้วยวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อความแข็งแรง ติดตั้งจุดจอดจักรยาน 100 จุด รองรับ 900 คัน และกล้อง CCTV 30 จุดที่ช่วยจับการกระทำผิดกว่า 400 ราย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความปลอดภัยประจำกว่า 890 จุด นอกจากนี้ยังได้ขยายบริการ BMA Feeder นำร่อง 4 เส้นทาง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน และดำเนินการลอกท่อระบายน้ำกว่า 7,100 กิโลเมตร และลอกคลองกว่า 2,900 กิโลเมตร เพื่อบรรเทาน้ำท่วมและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ อีกทั้ง ยังมีโครงการ “เดินสบาย ปั่นปลอดภัย” ที่เน้นพัฒนาพื้นที่ถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร ให้เอื้อต่อการเดินและการปั่นจักรยาน โดยความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา ผ่านการสำรวจและวางแผนร่วมกับชุมชน โดยเริ่มจากพื้นที่นำร่อง 7 เส้นทาง ได้แก่ ถนนบำรุงเมือง ถนนตะนาว ถนนเฟื่องนคร ถนนมหรรณพ ถนนดินสอ ซอยสำราญราษฎร์ (ถนนมหาไชย-ถนนศิริพงษ์) และถนนราชบพิธ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังร่วมมือกับตำรวจนครบาลเพื่อทดสอบเส้นทางจักรยานใน 4 ย่าน ได้แก่ สถานีพร้อมพงษ์ สามยอด ลาดพร้าว 71 และท่าพระ โดยเปิดทดลองใช้เป็นเวลา 3 เดือนเพื่อประเมินการใช้งานจริง เป้าหมายระยะยาวคือการลดการใช้รถยนต์ในระยะทางใกล้ และส่งเสริมการเดินและการปั่นจักรยานอย่างยั่งยืน โดยมีตำรวจเป็นต้นแบบในการใช้งานในชีวิตประจำวัน เพื่อขับเคลื่อนเมืองให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและปลอดภัย
การมีส่วนร่วมของเยาวชนกำลังเปลี่ยนภาพอนาคตของความปลอดภัยบนท้องถนน
การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในประเด็นระดับโลกอย่างความปลอดภัยทางถนน ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากพลังของคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิด กล้าแสดงออก และกล้าลงมือทำ ซึ่งเวทีระดับนานาชาติในปี 2025 ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของเยาวชนไทยในการขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างชัดเจน
การเข้าร่วมประชุมเยาวชนโลกด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ครั้งที่ 3 (3rd World Youth Assembly for Road Safety) ณ เมืองมาร์ราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมระดับนานาชาตินี้อย่างเป็นทางการ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สนับสนุนให้นางสาวนดา บินร่อหีม อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และนายพิชชากร โชตสุภาพร ผู้ช่วยประธานฯ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ แสดงออกถึงพลังสร้างสรรค์ และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายอย่างสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมหลากรูปแบบ การกล่าวสุนทรพจน์ การประชุมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมศิลปะ และการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์บนถนน เพื่อส่งสารไปยังผู้นำระดับโลกว่า เยาวชนพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
ประเทศไทยมีจุดแข็งสำคัญในการสร้างระบบสนับสนุนเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เช่น สภาเด็กและเยาวชนที่มีสมาชิกกว่า 300,000 คนทั่วประเทศ พร้อมกองทุนสนับสนุนโครงการเยาวชนในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความปลอดภัยทางถนนที่เพิ่งเริ่มต้นขับเคลื่อนอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา มีทั้งงบประมาณจากรัฐบาลและกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน

ที่มารูปภาพ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (2568)
การเดินและการปั่นจักรยานเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเมืองที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับผู้คน
เมื่อกิจกรรมพื้นฐานอย่างการเดินและการปั่นจักรยานกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ ลดภาระโรคเรื้อรัง เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงชุมชนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น การลงทุนในความปลอดภัยจึงเป็นการลงทุนในอนาคตของมนุษยชาติ ความพยายามจากหลายภาคส่วน รวมถึงเสียงของเยาวชนทั่วโลก ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งไกลตัว แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมที่เราทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ก้าวแรกบนถนนที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับทุกคน
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เอกสารอ้างอิง
UNAIDS. (2017). Interview with Tedros Adhanom Ghebreyesus, WHO Director-General elect. Retrieved from https://www.unaids.org/en/resources/presscentre/featurestories/2017/april/WHO-next-director-general_Tedros
United Nations. (2025). ‘We can do better’ for pedestrian and cyclist safety worldwide. Retrieved from https://news.un.org/en/story/2025/05/1163101
WHO. (2025). 8th UN Global Road Safety Week. Retrieved from https://www.who.int/campaigns/un-global-road-safety-week/8th-un-global-road-safety-week
WHO. (2025). Promoting walking and cycling: a toolkit of policy options. Retrieved from https://www.who.int/publications/i/item/9789240109902
WHO. (2025). Safer walking and cycling crucial for road safety and better health. Retrieved from https://www.who.int/news/item/09-05-2025-safer-walking-and-cycling-crucial-for-road-safety-and-better-health
Bangkok News (กทม.สาร). (2566). กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ Smart City เดินทางดีและปลอดภัย. สืบค้นจาก https://bookkurry.com/bookkurry.com/burinh/publication/bkk_news/288/#page=1
สำนักการจราจรและขนส่ง. (2567). กทม. จับมือ บช.น. เพิ่มความปลอดภัยเส้นทางจักรยาน 4 ย่านนำร่อง ส่งเสริมเดิน-ปั่น ลดใช้รถยนต์ส่วนตัว. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/share/p/1EHmenhaBf/
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2568). “วราวุธ” เผย พม.นำผู้แทนเยาวชนไทย ร่วมเวทีระดับโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน หวัง ให้มีส่วนร่วมจริง. สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/94128