
ปี 2024 ได้จารึกหน้าประวัติศาสตร์ด้วยสถิติใหม่ที่น่าตกใจ เมื่อองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก World Meteorological Organization (WMO) รายงานว่าอุณหภูมิโลกได้พุ่งทะลุขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก ฐานข้อมูลนานาชาติจำนวน 6 แหล่ง ได้แก่ HadCRUT5, NOAAGlobalTemp v6, GISTEMP, Berkeley Earth, JRA-3Q and ERA5 ยืนยันตรงกันว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.55 องศาเซลเซียส โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนเพียง ± 0.13 องศาเท่านั้น

ที่มา : United Nations (2025)
“เรากำลังเฝ้าดูประวัติศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า
ไม่ใช่เพียงปีเดียวหรือสองปีที่ทำลายสถิติ แต่เป็นการทำลายสถิติต่อเนื่องยาวนานถึง 10 ปี
พร้อมกับการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง
ทั้งระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และการละลายของน้ำแข็ง
สาเหตุทั้งหมดนี้มาจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
ซึ่งเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์”– WMO Secretary-General Celeste Saulo
เมื่อข้อตกลงปารีสถูกท้าทายด้วยอุณหภูมิพุ่งทะลุ 1.5°C ข้อตกลงปารีสถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรับมือกับวิกฤตโลกร้อน โดยประชาคมโลกได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ มุ่งรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในระยะยาวให้ต่ำกว่า 2°C และพยายามจำกัดไม่ให้เกิน 1.5°C เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการควบคุมอุณหภูมิโลกเพื่อป้องกันผลกระทบรุนแรง แม้การพุ่งเกิน 1.5°C ในบางปีจะไม่ได้หมายถึงความล้มเหลวของเป้าหมาย เพราะข้อตกลงปารีสวัดผลในระยะยาวหลายทศวรรษ แต่ทุกการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิแม้เพียงเล็กน้อยล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิต เศรษฐกิจ และระบบนิเวศของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มหาสมุทร : แหล่งสะสมความร้อนมหาศาล จากการศึกษาล่าสุดในวารสาร Advancesin Atmospheric Sciences ได้นำเสนอข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในมหาสมุทร โดยทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจำนวน 54 คน จาก 31 สถาบัน ใน 7 ประเทศ ภายใต้การนำของศาสตราจารย์หลี่จิง เฉิง พบว่า มหาสมุทรในปี 2024 กำลังเก็บสะสมความร้อนในระดับที่ไม่เคยพบมาก่อน จำนวน 16 เซตตะจูล ทั้งในระดับผิวน้ำและในระดับที่ลึกลงไปถึง 2,000 เมตร ซึ่งเป็นปริมาณความร้อนที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2023 – 2024 เป็นจำนวนที่มากกว่าการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของโลกในปี 2023 ถึง 140 เท่า สะท้อนให้เห็นว่ามหาสมุทรกำลังทำหน้าที่เป็นแหล่งดูดซับความร้อนส่วนเกินจากภาวะโลกร้อนมากถึง 90%
เซตตะจูล (Zettajoules, ZJ) เป็นหน่วยวัดพลังงานในระบบ SI โดย 1 ZJ เท่ากับ 10^21 จูล (Joules) ใช้ในการวัดพลังงานในระดับมหาศาล เช่น พลังงานจากดวงอาทิตย์
ทั้งนี้ WMO มีกำหนดเผยแพร่รายงาน State of the Global Climate 2024 ในเดือนมีนาคม 2025 ซึ่งรายงานนี้จะแสดงให้เห็นถึงภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์โลกร้อน ครอบคลุมทั้งระดับก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิพื้นผิว ความร้อนในมหาสมุทร ระดับน้ำทะเล การถอยร่นของธารน้ำแข็ง และขอบเขตน้ำแข็งในทะเลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ก้าวต่อไปของมนุษยชาติ อันโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ลงมือทำอย่างเร่งด่วน “ยังมีเวลาที่จะหลีกเลี่ยงหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายที่สุด แต่ผู้นำต้องลงมือทำ ณ ตอนนี้” เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในระยะยาวไม่ให้เกิน 1.5°C และสนับสนุนผู้ที่เปราะบางที่สุดในการรับมือกับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง

ที่มา : Uneca (2025)
ปี 2024 อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โลกตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ภัยคุกคามในอนาคตอีกต่อไป แต่เป็นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน การตอบสนองของประชาคมโลกต่อสถานการณ์นี้จะเป็นบททดสอบสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาระดับโลกเวลากำลังเป็นสิ่งสำคัญ และการกระทำของเราในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของคนรุ่นต่อไป
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เอกสารอ้างอิง
Uneca. (2025). Secretary-General’s Statement on Official Confirmation of 2024 as the Hottest Year. Retrieved from https://www.uneca.org/stories/secretary-general%27s-statement-on-official-confirmation-of-2024-as-the-hottest-year
United Nations. (2015). PARIS AGREEMENT. Retrieved from https://unfccc.int/files/essential_background/convention/application/pdf/english_paris_agreement.pdf
United Nations. (2024). 1.5°C: what it means and why it matters. Retrieved from https://www.un.org/en/climatechange/science/climate-issues/degrees-matter
United Nations. (2025). Secretary-General’s Statement on Official Confirmation of 2024 as the Hottest Year. Retrieved from https://www.un.org/sg/en/content/sg/statement/2025-01-10/secretary-generals-statement-official-confirmation-of-2024-the-hottest-year
United Nations. (2025). WMO confirms 2024 as warmest year on record at about 1.55°C above pre-industrial level. Retrieved from https://www.un.org/sustainabledevelopment/blog/2025/01/press-release-wmo-confirms-2024-as-warmest-year-on-record-at-about-1-55c-above-pre-industrial-level/
วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ. (2561). หน่วยเอสไอ (SI Unit) สำหรับการวัดทางวิทยาศาสตร์. สืบค้นจาก https://sci.rmutp.ac.th/woravith/?page_id=1488
กลับหน้าข่าวสารและบทความ