Goal 3Goal 16

ประชากรและแนวโน้มของเรือนจำทั่วโลก มุ่งเน้นที่การฟื้นฟู : ประเด็นเรือนจำในปี 2024

จากรายงาน “ประชากรและแนวโน้มของเรือนจำทั่วโลก: มุ่งเน้นที่การฟื้นฟู” ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ที่เผยแพร่เนื่องในวันเนลสัน แมนเดลา สากล ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ในระบบเรือนจำทั่วโลกที่กำลังเผชิญความท้าทายสำคัญหลายประการ

จากข้อมูลพบว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีการลดลงชั่วคราวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จำนวนผู้ถูกกักขังทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2012 ถึง 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จาก 10.9 ล้านคน เป็น 11.5 ล้านคน ทวีปอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนผู้ถูกกักขังสูงเป็นอันดับสอง โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ที่มีผู้ถูกกักขัง 1.8 ล้านคน และ 1.3 ล้านคนตามลำดับ

สถานการณ์ที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งคือ จำนวนผู้ถูกกักขังที่รอการพิจารณาคดี ซึ่งมีถึง 3.5 ล้านคน หรือประมาณหนึ่งในสามของผู้ถูกกักขังทั้งหมด แม้ว่าสัดส่วนระหว่างผู้ชายและผู้หญิงจะใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 31 และ 30 ตามลำดับ แต่ในบางภูมิภาค เช่น โอเชียเนียและแอฟริกา สัดส่วนผู้หญิงที่รอการพิจารณาคดีสูงถึงร้อยละ 40 ขณะที่ในทวีปอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 35

ปัญหาความแออัดในเรือนจำยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ โดยพบว่าร้อยละ 60 ของประเทศทั่วโลกที่มีข้อมูล มีจำนวนผู้ต้องขังเต็มความจุหรือเกินความจุของเรือนจำ และหนึ่งในห้าของประเทศมีผู้ต้องขังเกินความจุถึงร้อยละ 150 โดยเฉพาะในแอฟริกาและอเมริกาที่ร้อยละ 70 ของประเทศรายงานว่าเรือนจำมีความแออัด

ที่น่าห่วงอย่างยิ่งคือสถานการณ์การเสียชีวิตในเรือนจำ โดยพบว่าหนึ่งในสิบของการเสียชีวิตเกิดจากการฆ่าตัวตาย โดยมีอัตรา 34.2 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าอัตราในประชากรทั่วไปที่ 9.2 ต่อแสนคน นอกจากนี้ อัตราการฆาตกรรมในเรือนจำก็สูงกว่าประชากรทั่วไปเช่นกัน โดยอยู่ที่ 12.2 ต่อแสนคน เทียบกับ 5.8 ต่อแสนคนในประชากรทั่วไป โดยทวีปอเมริกามีอัตราการฆาตกรรมในเรือนจำสูงที่สุดที่ 18.3 ต่อแสนคน

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณที่ดีในด้านการฟื้นฟูผู้ต้องขัง โดยผู้บริหารเรือนจำร้อยละ 80 ได้พัฒนากลยุทธ์เฉพาะสำหรับการฟื้นฟูและการกลับคืนสู่สังคมของผู้ถูกกักขัง และครึ่งหนึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังมีส่วนร่วมในการวางแผน แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับการนำกลยุทธ์เหล่านี้ไปปฏิบัติจริง

จากสถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศต่างๆ จะต้องเพิ่มความพยายามในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่อิงหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งในด้านการป้องกันอาชญากรรม โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน การปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ การพัฒนากลยุทธ์การกลับคืนสู่สังคม และการสร้างหลักประกันในการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

อ่านเอกสารฉบับเต็มได้ ที่นี่

2024-1416565-EN.pdf
ดาวน์โหลด
กลับหน้าศูนย์รวมเอกสาร