สภาพัฒน์จัดเวที Kick Off การขับเคลื่อน SDG LAB พื้นที่ขยายผล จังหวัดสมุทรสงคราม

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคความเท่าเทียมทางสังคม สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อน SDG LAB พื้นที่ขยายผล จังหวัดสมุทรสงคราม” ณ กนกรัตน์รีสอร์ท อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขยายพื้นที่การขับเคลื่อน SDG LAB ที่มีวุฒิอาสาธนาคารสมองเป็นกลไกบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ โดยมีนางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม และสำนักงานฯ ได้รับเกียรติจากนายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกล่าวต้อนรับ การประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 80 คน ประกอบด้วย วุฒิอาสาธนาคารสมอง ภาคีเครือข่ายการพัฒนา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน 

กิจกรรมวันแรก มีการบรรยาย เรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน กล่าวถึง การพัฒนาประเทศของไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศระยะยาวที่ถ่ายระดับมายังแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับปรับปรุง) (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเข้าสู่ระยะที่ 2 ของการดำเนินงาน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งมีกลไกระดับพื้นที่เชื่อมโยงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 กับแผนพัฒนาอื่น ๆ ในพื้นที่ (One Plan) โดยเน้นการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ มีเครือข่ายระดับตำบลเชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน รวมทั้งนำเสนอเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคกลาง (พ.ศ. 2566-2570) ที่มุ่งเป็น “ฐานการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง” ซึ่งมีการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก เป็นประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ กล่าวได้ว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยชุมชนท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนตั้งแต่การจัดทำแผนท้องถิ่น การดำเนินการ การติดตามประเมินผล และการมีส่วนร่วมพัฒนาข้อมูลและดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ได้ 

ต่อจากนั้น เป็นเวทีเสวนาเรียนรู้ตัวอย่างการขับเคลื่อนปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน SDG LAB ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องการขับเคลื่อนและขยายผลไปสู่ระดับภาค ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก โดยเชื่อมประสานองคาพยพการทำงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และเชื่อมร้อยการทำงานในระดับภาค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อน “ภาคตะวันออกยั่งยืน” โดยมี นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานวุฒิอาสาธนาคารสมอง จังหวัดฉะเชิงเทรา นายครรชิต เข็มเฉลิม กรรมการมูลนิธิพัฒนาไท และผู้ประสานงานเครือข่ายตะวันออกยั่งยืน นายสุทธิธรรม เลขวิวัฒน์ ประธานวุฒิอาสาธนาคารสมอง จังหวัดระยอง และประธานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดระยอง เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมี นายคุณานนต์ บุญแจ้ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สศช. เป็นผู้ดำเนินรายการ ในช่วงท้ายของกิจกรรมได้เปิดเวทีถกถามและแลกเปลี่ยนความเห็นแนวทางการขับเคลื่อน SDG LAB จากพื้นที่ภาคตะวันออกสู่เมืองแม่กลอง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จำนงค์ แรกพินิจ อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (มหาวิทยาลัยชีวิต) เป็นผู้ดำเนินรายการ 

กิจกรรมวันที่สอง เป็นการระดมสมอง หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและค้นหาแนวทาง การทำงานเพื่อขับเคลื่อน SDG LAB จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีทีมยังธนเป็นทีมวิทยากรกระบวนการร่วมกับ สศช. ซึ่งได้ประเด็นร่วมพัฒนาและแนวทางการขับเคลื่อน 5 ประเด็น ดังนี้ (1) การส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรม โดยเน้นการสร้างสิ่งที่มี (คุณ) ค่าในชุมชนให้เกิดมูลค่า อาทิ จัดทำแผนการท่องเที่ยวสายศรัทธา (สายมู) ตามเส้นทางวัดและศาสนสถาน สร้างพื้นที่นำร่องในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรม โดยมีหน่วยงานสถาบันการศึกษาเป็นเจ้าภาพ เพื่อหาภาพรวมที่ยึดตามระบบนิเวศและความต้องการของชุมชน (2) การสร้างนิเวศการเรียนรู้ท้องถิ่น เริ่มด้วยการรวมกลุ่มคนทำงานและเครือข่ายด้านการศึกษา เพื่อร่วมจัดทำข้อมูลนิเวศการเรียนรู้ท้องถิ่นที่เป็น “การศึกษาและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิต” มีการจัดการความรู้ที่นำไปสู่การต่อยอดความรู้สู่การปฏิบัติได้จริงตลอดทุกช่วงวัย โดยมีมหาวิทยาลัยชีวิตเป็นพื้นที่คลังข้อมูล คลังความรู้ และแกนกลางเชื่อมโยงการทำงานในพื้นที่ (3) การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโดยชุมชน จัดทำ “โครงการเวสสุวรรณคุ้มภัย ปลอดภัย แม่กลอง” โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบหลักและเป็นศูนย์กลางประสานงานโครงการ ระหว่างผู้สูงอายุ/ผู้สูงอายุป่วยติดเตียง โรงพยาบาล และมูลนิธิสรรพราเชนทร์ (ผู้สนับสนุนการระดมทุน) มีบูรณาการการทำงานร่วมกันและขยายผลจากระดับตำบลไปสู่ระดับจังหวัด (4) การสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศเกษตร โดยเริ่มจากการจัดการภาคอุตสาหกรรมมีผลกระทบต่อวิถีเกษตร จัดให้มีเวทีประชาพิจารณ์แบบมีส่วนร่วม และส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนในการร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายในจังหวัด (5) การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการชุมชน โดยสร้างพื้นที่ปรึกษาหารือระหว่าง “คนมีใจ” หน่วยงานภาคี ให้เกิดการแก้ไขปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการจัดทำฐานข้อมูลและแอปพลิเคชั่น “งานแม่กลอง” ใช้ค้นหาและจับคู่คนรุ่นใหม่กับแหล่งงานในพื้นที่ พัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาควบคู่องค์ความรู้ทางธุรกิจ ส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้จากฐานวัฒนธรรม อาทิ ฟื้นฟูประเพณีแต่งงานทางเรือ การตกกุ้ง และการลงแขกลงคลอง รวมทั้งพัฒนาต้นแบบกลุ่ม/องค์กรชุมชนระดับตำบล อาทิ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนสวัสดิการชุมชน สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน/วิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อใช้เป็นกลไกสร้างการมีส่วนร่วมและกระจายประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนไปสู่คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่

การจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นการขับเคลื่อน SDG LAB จังหวัดสมุทรสงคราม ที่รวมพลังจากเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ซึ่ง สศช. จะทำหน้าที่หนุนเสริมการขับเคลื่อนงาน ทั้งการสนับสนุนองค์ความรู้ การเชื่อมประสานหน่วยงานภาคีภายนอก รวมทั้งร่วมติดตามและให้ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อน SDG LAB จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีวุฒิอาสาธนาคารเป็นกลไกเชื่อมต่อการทำงานในระยะต่อไป 

ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม

ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล และ กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม

กลับหน้า SDGs กับเศรษฐกิจพอเพียง