Goal 4

Thailand’s SDG Review: The Series EP.6

https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2022/04/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C.png

การศึกษาเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ การเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงจะช่วยยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปิดช่องว่างทางสังคม สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 จึงมุ่งเน้นสร้างหลักประกันว่าเด็กชายและหญิงสามารถเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพอย่างถ้วนหน้า ตลอดจนคนทุกช่วงวัยได้รับโอกาสในการเข้าถึงการฝึกอบรมทักษะอาชีพที่เหมาะสมและเท่าเทียม

          ในภาพรวม การเข้าถึงการศึกษาและสำเร็จการศึกษาของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีสัดส่วนเด็กเข้าศึกษาในระดับปฐมวัยที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 84.7 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 86.3 ในปี 2562 ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น มีสัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 91.8 และร้อยละ 90.1 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 98.2 และร้อยละ 96.9 ในปี 2562 ตามลำดับ นอกจากนี้ ความเท่าเทียมทางเพศในการเข้าถึงศึกษา ของไทยปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีความเสมอภาคระหว่างเพศ (Gender Parity Index: GPI) ที่มีแนวโน้มดีขึ้นในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ปี 2559

อย่างไรก็ดี ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลง เมื่อพิจารณาจากผลคะแนนการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดยในปี 2562 คะแนนเฉลี่ยของระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 คะแนนในเกือบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มีแนวโน้มคะแนนเฉลี่ยลดลงในทุกรายวิชาเมื่อเทียบกับปี 2559 ในขณะที่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีแนวโน้มคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นในวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ลดลงในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2022/04/O-net-%E0%B8%9B.6.png
https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2022/04/O-net-%E0%B8%A1.3.png

ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆ อาทิข้อจำกัดในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาและเทคโนโลยีสารสนเทศ ความห่างไกลเชิงพื้นที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐานะยังเป็นสาเหตุหนึ่งของ “การเลิกเรียนกลางคัน” ทำให้เด็กบางกลุ่มต้องห่างหายจากการศึกษาและอาจหลุดออกจากระบบการศึกษาในที่สุด การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มเด็กและเยาวชนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ซึ่งต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการเรียนออนไลน์ รวมถึงภาวการณ์การเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในทักษะทางสังคมและด้านวิชาการ

         เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ภาครัฐได้ส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของคนทุกกลุ่มวัย ผ่านโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการขยายโอกาสสำหรับผู้พิการโครงการพัฒนาคนตลอดช่วงวัย โครงการสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับพื้นที่

         นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการพัฒนาระบบการศึกษา หลักสูตรและสื่อการสอนให้ทันสมัยและมีคุณภาพ อาทิ การจัดการเรียนรู้ STEM Education เพื่อเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้เรียนโครงการส่งเสริมกิจกรรม งานวิจัยเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้การวิจัยเป็นพื้นฐานและโครงการยกระดับการบริหารจัดการผ่านการจัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้สถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของโลกในศตวรรษที่ 21 อาทิ การจัดตั้ง Thai MOOC เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยเรียนและนอกวัยเรียนเพื่อรองรับการ Reskill/ Upskill ตามพลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงนวัตกรรมทางการศึกษาที่จำเป็นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา          

         การขับเคลื่อนการศึกษาในอนาคตภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาให้มีความเป็นธรรมและมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันทางสังคมผ่านมาตรการที่สอดรับกับสถานการณ์และบริบทในปัจจุบัน เร่งพัฒนาโอกาสทางการศึกษาเพื่อเอื้อให้คนทุกเพศ ทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงการศึกษาได้สะดวกทุกที่และทุกเวลา อีกทั้งควรเร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนบทบาทของครูให้สามารถพัฒนาสมรรถนะพื้นฐานของผู้เรียนได้อย่างเต็มความสามารถ ส่งเสริมการกระจายทรัพยากรทางการศึกษาทั้งในเรื่องการจัดสรรครูและการสนับสนุนเครื่องมือการเรียนการสอนที่สอดคล้องและมีความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและทักษะด้านดิจิทัลในการเรียนการสอนให้แก่บุคคลากรทางการศึกษา

         นอกจากนี้ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรประสานการดำเนินงานช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นระบบ ผ่านการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ มีการวิเคราะห์ข้อมูลในมิติที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างรอบด้าน เพื่อให้สามารถระบุความต้องการที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริงและแก้ปัญหาภาวการณ์การเรียนรู้ถดถอยและเด็กตกหล่นทางการศึกษาได้อย่างเหมาะสม

ประเด็น SDG 4 ที่ต้องเร่งแก้ไข

https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2022/04/SDG4-indicator.png
https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2022/04/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99-SDG4.jpg

ผลการประเมินความก้าวหน้า SDG 4 ของไทยระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2563 พบว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเป้าหมาย โดยมีสัดส่วนความสำเร็จอยู่ในช่วง 76 – 99% ของค่าเป้าหมาย
ซึ่งแสดงค่าสถานะเป็นสีเหลือง

         ภาพรวมของ SDG 4 มีสถานะเป็นสีเหลือง เนื่องจากมีเป้าหมายย่อยที่มีอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเป้าหมายมากถึง 9 เป้าหมายย่อยจากทั้งหมด 10 เป้าหมายย่อย

         โดยมีเป้าหมายย่อยที่มีสถานะการดำเนินการต่ำกว่าค่าเป้าหมายในช่วง 76 – 99 % จำนวน 8 เป้าหมายย่อย (SDG 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 4.a และ 4.c) โดยแสดงผลเป็นสีเหลือง ทั้งนี้ เป้าหมายย่อยที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง แสดงผลเป็นสีส้ม ซึ่งมีสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในช่วง 51 – 75% จำนวน 1 เป้าหมายย่อย คือ SDG 4.1 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผลภายในปี 2573

กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กลับหน้าข่าวสารและบทความ