
ผ่านพ้นการต่อสู้และการเคลื่อนไหวเรียกร้องกันมาอย่างเนิ่นนาน ในที่สุด วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2568 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนและเป็นประเทศที่ 3 ในทวีปเอเชียที่มีกฎหมายรองรับการสมรสของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) นับเป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในมิติหนึ่งของสังคมไทยมุ่งสู่การเป็นสังคมที่เคารพสิทธิและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง มีความตระหนักรู้ในความหลากหลายและการยอมรับความรักในทุกรูปแบบ

การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้มอบสิทธิให้กับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย โดยปรับถ้อยคำและนิยามในเอกสารทางกฎหมายให้มีความเป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนคำว่า “สามี-ภรรยา” เป็น “คู่สมรส” หรือการปรับจาก“ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล” เพื่อไม่จำกัดเพศและอัตลักษณ์ของทุกคนที่ต้องการจดทะเบียนสมรส
คำว่า “แต่งงาน” หรือ “สมรส” ไม่ใช่แค่การแสดงออกทางความรักเพียงอย่างเดียวสำหรับหลายๆ คู่ แต่คำนี้เป็นเสมือนการสร้างรากฐานที่มั่นคงระหว่างคน 2 คน ซึ่งกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้มอบสิทธิที่หลากหลายให้กับคู่สมรสคู่ เช่น การตัดสินใจร่วมกันในเรื่องทรัพย์สิน การดูแลบุตร และสิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทตามกฎหมาย สิทธิในการจัดการชีวิตของอีกฝ่ายในยามเจ็บป่วยและฉุกเฉิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เคยเป็นข้อจำกัดที่คนในกลุ่ม LGBTQIA+ ต้องเผชิญมาเป็นเวลานาน
จึงอยากขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมสำรวจสิทธิและความคุ้มครองที่พึงจะได้รับจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความท้าทายเชิงกฎหมายและนโยบายการพัฒนาระหว่างประเทศ (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs) ในการทำความเข้าใจประเด็นความหลากหลายทางเพศ
สิทธิพื้นฐานที่มีผลทันที หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมใช้บังคับ
- สิทธิการหมั้น
- กฎหมายสมรสเท่าเทียมกำหนดว่า “บุคคลทั้งสองฝ่าย” หมั้นได้ ต้องมี อายุ 18 ปี บริบูรณ์แล้ว (มาตรา 1435)
- การหมั้นจะสมบูรณ์ เมื่อ “ผู้หมั้น” ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นให้ “ผู้รับหมั้น”เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกัน
- สิทธิการสมรส
- การสมรสจะกระทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ (มาตรา 1448)
- การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย (มาตรา 1458)
- บุคคลที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยได้ โดยการสมรสกับชาวต่างชาติสามารถทำได้ที่ภายในประเทศไทย คือ จดทะเบียนสมรสที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือทำในต่างประเทศ ณ สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ
- สิทธิการหย่า
- เมื่อกฎหมายรับรองสิทธิในการสมรสแล้ว กฎหมายก็ได้รับรองสิทธิในการหย่าของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (มาตรา 1516 (1) และ (10)) โดยแก้ไขถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศ เช่น จาก “ผู้ซึ่งล่วงเกินสามี/ภริยา” เป็นผู้ซึ่งล่วงเกิน “คู่สมรส” เพื่อรองรับเรื่องเหตุนอกกายนอกใจคู่สมรส (Adultery) และเรื่องที่คู่สมรสมิอาจมีเพศสัมพันธ์ได้ สามารถฟ้องหย่าได้หากฝ่ายใดเลี้ยงดู “ผู้อื่น” ฟ้องค่าทดแทนจากชู้ได้ไม่จำกัดเงื่อนไขเรื่องเพศ
- สิทธิด้านทรัพย์สิน
- คู่สมรสสามารถจัดการทรัพย์สินร่วมกัน รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม และสามารถจัดการทรัพย์สินของอีกฝ่ายในกรณีจำเป็น
- ถ้าเป็นสินส่วนตัว คู่สมรสฝ่ายหนึ่งสามารถจัดการทรัพย์สินของตัวเองได้ตามปกติ แต่สินสมรสเป็นเจ้าของร่วมกันและต้องจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การขายหรือจัดการสินสมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย
- สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
- คู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมทั้งให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลของคู่สมรส และสามารถดูแลเด็กในฐานะพ่อแม่ที่เท่าเทียมกันซึ่งจะต้องมีอายุมากกว่าบุตรที่รับมาเลีี้ยง 15 ปีขึ้นไป (มาตรา 1598/26 วรรคแรก)
- สิทธิด้านสุขภาพและการจัดการในยามฉุกเฉิน
- คู่สมรสสามารถลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลแทนกันได้ รวมถึงมีสิทธิในการจัดการศพของอีกฝ่าย พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 กำหนดหลักการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล กรณีที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาวะที่จะรับทราบข้อมูลสุขภาพเพื่อตัดสินใจรักษาพยาบาล จะต้องแจ้งให้ทายาทโดยธรรมทราบก่อน ซึ่งคู่สมรสก็เป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายด้วย นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 วรรคสาม กำหนดว่ากรณีที่ผู้ป่วยขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมบำบัดรักษา คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน ฯลฯ สามารถให้ความยินยอมเป็นหนังสือแทนผู้ป่วยได้
- สิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐที่เป็นของ ‘คู่สมรส’
- คู่สมรสสามารถรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาลในฐานะคู่สมรสตามที่กฎหมายกำหนด ตาม พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ .2533 เช่น ค่าทดแทนเมื่อเสียชีวิต เงินค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ เงินสงเคราะห์บุตร บำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ
- สิทธิในการบรรจุเป็นข้าราชการ
- กรณีคู่สมรสเสียชีวิตจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่ โดยบุตร คู่สมรส หรือพ่อแม่ของข้าราชการทหารที่เสียชีวิตเนื่องจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่ อาจจะได้รับสิทธิในการบรรจุหรือแต่งตั้งเป็นข้าราชการทหาร พนักงาน หรือลูกจ้างในหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 10/1
- สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
- คู่สมรสสามารถรับสิทธิการลดหย่อนภาษีคู่สมรส 60,000 บาท (มาตรา 47 (1)(ข) ประมวลรัษฎากร) และเงินที่ได้รับโดยเสน่หาจากคู่สมรส เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีไม่ต้องคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (มาตรา 42 (27) ประมวลรัษฎากร)
- สิทธิในการใช้นามสกุลของคู่สมรส
- สามารถเปลี่ยนใช้นามสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือใช้นามสกุลเดิม หรือใช้นามสกุลคู่สมรสเป็นชื่อกลางได้
ตารางเปรียบเทียบการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรส
ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์เดิม | พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 | |
การหมั้น-การสมรส | ชาย-หญิง | บุคคล-บุคคล |
อายุขั้นต่ำที่สามารถทำการหมั้น-การสมรสได้ (กรณีหมั้น/สมรสขณะอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา) | 17 ปี | 18 ปี (สอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็ก) |
สมรสกับคนต่างชาติโดยใช้กฎหมายไทย | ทำได้ ระหว่าง “ชายและหญิง” | ทำได้ ระหว่าง “บุคคลสองคน” |
การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน | ทำได้ ระหว่าง “ชายและหญิง” | ทำได้ ระหว่าง “บุคคลสองคน” |
สิทธิในการรับมรดกคู่สมรสในฐานะทายาทโดยธรรม (กรณีไม่ได้ทำพินัยกรรม) | ทำได้ ระหว่าง “ชายและหญิง” | ทำได้ ระหว่าง “บุคคลสองคน” |
สิทธิในการใช้นามสกุลคู่สมรส | ทำได้ ระหว่าง “ชายและหญิง” | ทำได้ ระหว่าง “บุคคลสองคน” |
การให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลกรณีคู่สมรสอยู่ในสภาวะให้ความยินยอมไม่ได้ | ทำได้ ระหว่าง “ชายและหญิง” | ทำได้ ระหว่าง “บุคคลสองคน” |
สิทธิประโยชน์ในทางภาษี เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | ทำได้ ระหว่าง “ชายและหญิง” | ทำได้ ระหว่าง “บุคคลสองคน” |
ข้อห้ามในการจดทะเบียนสมรส | ห้ามสมรสซ้อนห้ามสมรสกับบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถห้ามสมรสกับญาติตามสายโลหิตห้ามผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม |

ผลกระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าประชาชนเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้น เศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็มักจะตามมาด้วยเสมอ อาจก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ และการร่วมหุ้นลงทุนกับต่างประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากความไว้วางใจว่า ประเทศไทยได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิและตัวตนของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เช่น การเกิดและเติบโตของธุรกิจการให้คำปรึกษาและการวางแผนครอบครัวสำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่เพิ่มมากขึ้น นำมาสู่การจ้างงานบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสายงานดังกล่าว และเกิดผลดีต่อธุรกิจจัดหาคู่ ธุรกิจจัดงานแต่ง ธุรกิจซื้อเช่าชุดแต่งงาน โรงแรม ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น งานวิจัยเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งจัดทำโดยบริษัท Agoda ร่วมกับบริษัท Access Partnership ได้ประเมินถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า “การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ จากทั่วโลกที่มีมูลค่าตลาดกว่า 2 แสนล้าน ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อปี ซึ่งประเทศไทยคาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านคนต่อปี พร้อมสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในช่วง 2 ปีแรกหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้” โดยการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่เพียงช่วยส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ แต่ยังมีผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยอีกด้วย
ผลกระทบต่อสังคม
รายงานการวิจัยสุขภาพจิตสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย (มูลนิธิช่วยเหลือเด็กประเทศไทย, 2566) เซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children Thailand) มูลนิธิช่วยเหลือเด็กประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงช่วยให้คู่รักเพศหลากหลายได้รับสิทธิทางกฎหมาย แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติต่าง ๆ ของสังคม ดังต่อไปนี้
ลดปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน LGBTQI+
รายงานข้างต้นพบว่า การบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีส่วนช่วยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและปลอดภัยให้เด็กและเยาวชน LGBTQI+ ได้มากขึ้น ทำให้พวกเขากล้าที่จะแสดงตัวตนออกมามากขึ้น จากที่เคยเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ความกดดันจากสังคม และการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ส่งผลให้พวกเขามีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และถึงขั้นมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง
สร้างความมั่นคงของความสัมพันธ์ภายในครอบครัวในทุกรูปแบบ
กฎหมายสมรสเท่าเทียมรับรองสิทธิหลาย ๆ ข้อ เช่น เด็กในครอบครัว LGBTQI+ จะได้รับความคุ้มครองในเรื่องทรัพย์สินและมรดกในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับผู้ปกครอง หรือในเรื่องการตัดสินใจทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น ส่งผลให้เด็กที่เป็นอนาคตของชาติเติบโตอย่างมีคุณภาพได้เนื่องจากครอบครัวมีสภาพแวดล้อมที่ดีและมั่นคง ไม่เกี่ยวกับปัจจัยเรื่องเพศสภาพของบุพการี โดยมีกฎหมายคอยดูแลและโอบอุ้มอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ กฎหมายฯ ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อและการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยคู่สมรสสามารถใช้สิทธิในการกู้ร่วมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ซึ่งข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) พบว่า ในจำนวนผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยร้อยละ 4.9 เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ส่งผลให้เกิดประโยชน์ทางด้านสังคม สร้างความมั่นคงของความสัมพันธ์ภายในครอบครัว คู่สมรส LGBTQI+ กล้าวางแผนในอนาคตของครอบครัวมากขึ้นจากการมีหลักประกันของการใช้ชีวิตคู่ และการเปิดโอกาสให้คู่รักเพศหลากหลายสามารถรับบุตรบุญธรรมมาอุปการะเลี้ยงดูได้ อาจมีส่วนช่วยลดปัญหาเด็กโตนอกบ้านได้อีกทางหนึ่ง
ก้าวต่อไปของความเสมอภาคทางเพศ
การต่อยอดกฎหมายสมรสเท่าเทียมกับการแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ
ปัจจุบันแม้ว่ากฎหมายจะมีผลใช้บังคับแล้ว แต่เรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องทำร่วมกันมีอีกเป็นจำนวนมาก พึงสังเกตว่าการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในครั้งนี้ ไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีที่กฎหมายกำหนดเรื่องครอบครัวและมรดกไว้เป็นการเฉพาะ หรือกฎหมายอื่นที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย เรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี-ภริยา ไว้แตกต่างกัน คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมอาจไม่ได้สิทธินั้นในทันที สมรสเท่าเทียมเป็นเพียงก้าวแรกของความเสมอภาคทางเพศ สิ่งต่อไปที่ต้องคำนึงถึงก็คือ จะดำเนินการต่อยอดจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสิทธิในครอบครัวได้อย่างไรและสร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนั้น เพื่อให้เกิดสิทธิและความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง ตอบสนองต่อสิทธิของประชาชนมากที่สุด ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกิดปัญหาในการตีความบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดา ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และบุตร ในกรณีที่ยังไม่ได้แก้ไขกฎหมายทุกข้อทุกบทบัญญัติให้ปราศจากความยึดโยงกับสถานะทางเพศ เช่น ไม่มีสิทธิให้กำเนิดบุตรโดยใช้วิธีการอุ้มบุญได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 19 กำหนดให้การผสมเทียมต้องกระทำต่อ “หญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย” และมาตรา 21 กำหนดเงื่อนไขสำคัญของการตั้งครรภ์แทนว่าต้องกระทำโดย “สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย” และอีกหนึ่งประเด็นเกี่ยวกับบุตรบุญธรรมที่อยู่ในการปกครองของคู่รักเพศหลากหลาย ปัจจุบันยังคงถูกจำกัดสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งจากภาคราชการและสำนักงานประกันสังคม ที่ส่วนใหญ่กำหนดไว้ให้เพียงเฉพาะบุตรที่เกิดจากคู่สมรสซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บุตรบุญธรรมยังคงได้รับเพียงสิทธิจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ประเด็นนี้ยังต้องมีการพิจารณาทบทวนใหม่เนื่องจากอาจทำให้เด็กไม่ได้รับสิทธิอย่างเหมาะสมและส่งผลกระทบเชิงลบอย่างหลากหลายทั้งในระดับครอบครัวและระดับสังคม เป็นต้น กฎหมายไทยยังมีเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับความหลากหลายของประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในกฎหมายให้มีความเป็นกลางทางเพศ (gender neutrality) ก้าวนี้อาจจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการรับรองความเสมอภาคทางเพศที่มาทำให้สิทธิและหน้าที่ไม่ได้จำกัดกับเพศของบุคคลอีกต่อไป
การทบทวนแนวคิด “ความเท่าเทียมทางเพศ” ในบริบทของ SDGs
ดร.วริษา องสุพันธ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ในยุคปัจจุบันความเท่าเทียมทางเพศที่บัญญัติไว้ในเป้าหมาย (SDGs) ที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน อาจไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่ประสบกับการเลือกปฏิบัติจากอัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี การแสดงออกทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานของสังคมเข้าไปด้วย ต่างจากการเลือกปฏิบัติที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงประสบปัญหาเนื่องมาจากเพศ/เพศสถานะของตน (sex/gender)” จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงการตีความคำว่า “เพศ”ในเป้าหมาย SDGs ที่ 5 “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” ควรมีการพิจารณาทบทวนแนวคิดความเท่าเทียมที่ใช้ในการกำหนดกรอบนโยบายความเท่าเทียมทางเพศใหม่หรือไม่ เพื่อทำให้เกิดการบรรลุความเสมอภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพรอบด้านและหลายมิติมากขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ตามแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
บทสรุป
การแก้ไขพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 24 นี้ได้สะท้อนถึง การยกระดับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่ก้าวข้ามกรอบความคิดทางวัฒนธรรมและประเพณีที่เคยกีดกันความรักในรูปแบบที่ต่างไปจากกรอบดั้งเดิม เป็นสัญญาณแห่งการเปิดรับต่อความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้นระดับนึงในเชิงโครงสร้างที่ลดช่องว่างของความไม่เสมอภาค แม้ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นก้าวที่สำคัญต่อประเทศไทยกับวาระการพัฒนาของโลกตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่การสร้างความเข้าใจและการยอมรับในระดับวัฒนธรรมและสังคมยังคงต้องดำเนินต่อไป การเปลี่ยนแปลงสถานภาพและการได้รับสิทธิต่าง ๆ จากกฎหมายฯ ข้างต้น ยังมีประเด็นที่ต้องเตรียมความพร้อมและดำเนินการต่อเนื่องภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ คือ (1) การทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานของภาครัฐ ทั้งด้านทะเบียนทั้งเอกสาร ใบสำคัญ และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (2) การพิจารณาประเด็นเชื่อมโยงที่เป็นผลสืบเนื่องจากสิทธิที่คู่รักเพศหลากหลายที่ได้รับเพิ่มขึ้น อาทิ ประเด็นเกี่ยวกับการอุ้มบุญและบุตรบุญธรรม (3) การเตรียมความพร้อมทางธุรกิจเพื่อรองรับกลุ่มคนเพศหลากหลาย (4) การสร้างความเข้าใจ การเคารพต่อสิทธิ และความเห็นชอบของแต่ละฝ่ายถึงความหลากหลายทางเพศให้กับสังคม (5) การเตรียมความพร้อมของงบประมาณ
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
อ้างอิง
Access Partnership. (2024). ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของสมรสเท่าเทียมต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย. In Access Partnership (Access Partnership). https://www.agoda.com/press/marriage-equality-report-Thai.pdf
iLaw. (2020, July 7). #สมรสเท่าเทียม: สํารวจหลักกฎหมายและร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส. Retrieved February 10, 2025, from https://www.ilaw.or.th/articles/4317
iLaw. (24 กันยายน 2567). #สมรสเท่าเทียม : เปิดกฎหมายแพ่งแก้ไขใหม่ บุคคล-บุคคล สมรสได้ ไม่จํากัดแค่ชาย-หญิง. https://www.ilaw.or.th/articles/43563
Ojanen, T. T., Freeman, C., Kittiteerasack, P., Sakunpong, N., Sopitarchasak, S., Thongpibul, K., Tiansuwan, K., & Suparak, P. (2023).
Mental health and well-being of children and youth with diverse SOGIESC in Thailand. Save the Children Thailand. https://resourcecentre.savethechildren.net/document/study-report-mental-health-and-well-being-of-children-and-youth-with-diverse-sogiesc-in-thailand/
SDG Move Team. (n.d.). SDG Updates | ทับซ้อนและทวีคูณ: คลี่ชั้นความรุนแรงที่ LGBTQI ต้องเผชิญ. SDG Move. https://www.sdgmove.com/2023/06/28/sdg-updates-gender-equality-lgbtqi/
“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ดันไทยสู่เป้าหมาย SDGs 5 Gender Equality เพิ่มเม็ดเงินxนักท่องเที่ยวแบบตะโกน! – SD PERSPECTIVES LIFESTYLE SUSTAINABILITY. (n.d.). SD PERSPECTIVES LIFESTYLE SUSTAINABILITY. https://www.sdperspectives.com/next-gen/26442-thailand-marriage-equality-law-sdgs-5/
ก้าวต่อไปของสังคมไทยหลังกฎหมายสมรสเท่าเทียม. (22 พฤศจิกายน 2567). สถาบันปรีดี พนมยงค์ PRIDI BANOMYONG INSTITUTE : Pridi.or.th. https://pridi.or.th/th/content/2024/11/2202
เปิดรายชื่อ 37 ประเทศทั่วโลก ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้คุณค่าแก่ความรักของทุกคน. (15 มิถุนายน 2567). Amarintv. https://www.amarintv.com/lifestyle/trendy/64805
ประลองยุทธ ผงงอย. (24 มกราคม 2568). ‘สมรสเท่าเทียม’ อีกความหวังช่วยกระตุ้น GDP ไทยโตเพิ่ม 0.3% ต่อปีใน 2 ปี. THE STANDARD. https://thestandard.co/wealth-in-depth-equal-marriage-
ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ. (23 มกราคม 2568). สมรสเท่าเทียม ปี 2025 ชาติไหนประกาศใช้แล้วบ้าง. THE STANDARD. https://thestandard.co/equal-marriage-2025/
กลับหน้าข่าวสารและบทความ