
เมื่อพูดถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาพแรกที่ผุดขึ้นในใจหลายคนอาจเป็นเกาะที่ถูกน้ำทะเลคุกคาม ทว่าในอีกมุมหนึ่ง “ชุมชนพื้นที่สูง” กลับเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน บทความนี้จะพาไปสำรวจพื้นที่สูงในมิติใหม่ ที่ไม่ใช่แค่แนวสันเขาหรือที่สูงทางภูมิศาสตร์ แต่คือพื้นที่ยุทธศาสตร์ของทรัพยากรน้ำ ความมั่นคงทางอาหาร และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ภัยแล้ง น้ำหลาก ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างและความเปราะบางของพื้นที่ชายแดน บทความนี้จึงไม่เพียงเปิดมุมมองใหม่ต่อพื้นที่สูงทั้งในระดับโลกและประเทศไทย แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความท้าทายร่วมของมนุษยชาติ พร้อมแนวทางการฟื้นฟูที่กำลังกลายเป็นความหวังใหม่ของชุมชนบนพื้นที่สูง
ความหมายของพื้นที่สูงในระดับโลกและประเทศไทย
พื้นที่สูงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ภูเขาเท่านั้น แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศโลกที่มีความหลากหลายทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และภูมิสังคม แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) ได้จำแนกพื้นที่ภูเขาทั่วโลกออกเป็น 7 กลุ่มหลัก ตามระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางและลักษณะภูมิประเทศ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในโลก ระดับความสูงเกิน 4,500 เมตร | กลุ่มที่ 4 ระดับความสูงระหว่าง 1,500 – 2,500 เมตร โดยต้องมีความ ลาดชันตั้งแต่ 2 องศาขึ้นไป |
กลุ่มที่ 2 ระดับความสูงระหว่าง 3,500 – 4,500 เมตร | กลุ่มที่ 5 ระดับความสูงระหว่าง 1,000 – 1,500 เมตร โดยต้องมีความลาดชันตั้งแต่ 5 องศาขึ้นไปหรือมีช่วงระดับความสูงท้องถิ่น ในรัศมี 7 กิโลเมตรมากกว่า 300 เมตร |
กลุ่มที่ 3 ระดับความสูงระหว่าง 2,500 – 3,500 เมตร | กลุ่มที่ 6 ความสูงระดับกลางอยู่ที่ 300 – 1,000 เมตร แต่ต้องมีช่วงระดับความสูงท้องถิ่นในรัศมี 7 กิโลเมตรมากกว่า 300 เมตร |
กลุ่มที่ 7 แอ่งหรือที่ราบสูงขนาดเล็กไม่เกิน 25 ตารางกิโลเมตร ที่ล้อมรอบด้วยภูเขา และไม่ได้ตรงตามเกณฑ์ของกลุ่มอื่น |

สำหรับประเทศไทย คำว่า “พื้นที่สูง” มีความหมายเฉพาะในเชิงกฎหมายและการพัฒนาตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 ซึ่งให้คำจำกัดความว่า พื้นที่ที่เป็นภูเขาหรือมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไป หรืออยู่ในเขตที่คณะกรรมการกำหนด
ดังนั้น พื้นที่สูงของไทยอาจดูเหมือนเป็นเพียงบริบทท้องถิ่น แต่คือส่วนหนึ่งของระบบภูเขาโลกที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศโลก จากภูมิประเทศที่ลาดชันไปจนถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัด พื้นที่เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในด้านการรักษาสมดุลของน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมิติทางวัฒนธรรมที่ฝังรากอยู่ในวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง
พื้นที่สูง จุดเปราะบางของโลกและความท้าทายของไทย
แม้พื้นที่สูงจะดูห่างไกล แต่กลับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลก ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงทางอาหาร และคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลกและในไทย ทว่าภูเขาในวันนี้กลับต้องเผชิญวิกฤตที่ซับซ้อนและท้าทายมากกว่าที่เคย ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การกัดเซาะหน้าดินและดินเสื่อมโทรม QU Dongyu ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เตือนว่า ระบบนิเวศภูเขากำลังเผชิญแรงกดดันรอบด้าน และสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องของชุมชนท้องถิ่นอีกต่อไป แต่คือความรับผิดชอบของทั้งโลก

1. น้ำจากภูเขา ทรัพยากรที่กำลังจะหมด
น้ำจืดจากภูเขาเคยเป็นต้นน้ำแห่งชีวิต แต่ปัจจุบันกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว มากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลกต้องพึ่งพาน้ำจากธารน้ำแข็งและลำธารบนที่สูงเพื่อดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเพื่อดื่มกิน การใช้ในครัวเรือน ทำการเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์ แหล่งน้ำที่เคยไหลไม่ขาดกลับเริ่มแห้งเร็วขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป แต่คือหัวใจของการรักษาความมั่นคงทางอาหาร เพิ่มผลผลิตทางเกษตร และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน ทั้งหมดล้วนโยงใยกับความมั่นคงของแหล่งน้ำต้นทางที่ไม่เพียงเลี้ยงชีวิตคนนับพันล้าน แต่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในระยะยาว
2. ความยากจนบนพื้นที่สูงในไทย
ย้อนกลับไปก่อนปี พ.ศ. 2512 ชีวิตของผู้คนบนพื้นที่สูงในไทยเต็มไปด้วยความลำบาก พวกเขาทำการ เกษตรเพื่อยังชีพภายใต้สภาพแวดล้อมที่ท้าทาย แม้จะมีความพยายามช่วยเหลือผ่านมูลนิธิโครงการหลวง แต่ความยากจนก็ยังฝังรากลึก รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนบนพื้นที่สูงอยู่ที่เพียง 193,038 บาทต่อปี และยังมีถึง 23% ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่ในพื้นที่โครงการหลวงเฉพาะกิจ ก็พบว่า 73% ของประชากรยังคงยากจน และ 69% ขาดแคลนอาหารอย่างต่อเนื่อง
3. ชายแดน ภูเขา และฝิ่น ความมั่นคงที่ยังเปราะบางในไทย
แม้การปลูกฝิ่นในไทยจะลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแต่ภัยเงียบยังคงไม่หายไป ช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2561 พบพื้นที่ปลูกฝิ่น 508 แปลง รวม 433.73 ไร่ ลดลงจากปีก่อนหน้า 23% ทว่าในพื้นที่โครงการหลวงเฉพาะกิจยังคงพบการปลูกฝิ่นลักลอบถึง 297 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 252.78 ไร่ ปัญหายังคงไม่สิ้นสุด เพราะหากมาตรการควบคุมยังไม่เข้มแข็งพอ การปลูกฝิ่นอาจกลับมาอีกครั้ง โดยมีราคาฝิ่นดิบที่ยังสูงและความต้องการในพื้นที่เป็นแรงจูงใจสำคัญ
4. ป่าเสื่อม น้ำเปลี่ยน ดินพัง วิกฤตทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นที่สูงในไทย
ทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นที่สูงกำลังเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง การใช้ที่ดินเกินขีดจำกัดของระบบนิเวศทำให้พื้นที่ป่าไม้ของไทยระหว่างปี พ.ศ. 2551 – 2556ลดลงเฉลี่ยปีละ 1 ล้านไร่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศในลุ่มน้ำน่าน ปิง และสาละวิน ปัญหาที่ตามมาคือ อุทกภัย ภัยแล้ง และการชะล้างพังทลายของดิน โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรลาดชันหรือภูเขา ความซับซ้อนทวีขึ้นเมื่อเกษตรกรบางรายยังใช้สารเคมีจำนวนมาก ทำให้เกิดการปนเปื้อนในดินและน้ำ ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และชุมชนที่อยู่ปลายน้ำ

แม้จะอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล พื้นที่สูงกลับถูกมองข้ามในเวทีโลก
พื้นที่สูงทั่วโลกมีบทบาทสำคัญทั้งในฐานะแหล่งกำเนิดน้ำจืด แหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ แต่ในเวทีโลก เสียงของผู้คนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงกลับมักถูกกลบด้วยประเด็นใหญ่ระดับโลก โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
QU Dongyu ผู้อำนวยการใหญ่ FAO กล่าระหว่าง การประชุม Global Mountain Dialogue for Sustainable Development ที่จัดขึ้นในคีร์กีซสถานว่า พื้นที่สูงทั่วโลกยังคงมีศักยภาพ แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลาก หลายทางชีวภาพ และปัญหาดินเสื่อมโทรม อีกทั้งได้เน้นย้ำว่า ผู้คนหลายล้านคนบนภูเขากำลังเข้าถึงน้ำสะอาด อาหาร และทรัพยากรพื้นฐานได้ยากขึ้น สะท้อนความเปราะบางที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น แม้ปัญหาเหล่านี้จะมีความท้าทาย แต่โอกาสสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการส่งเสริม “การพัฒนาที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ” ที่ใช้จุดแข็งในท้องถิ่น เช่น การผลิตอาหารออร์แกนิก สิ่งทอพื้นถิ่น และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นเครื่องมือสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

การฟื้นตัวผ่านการเกษตรยั่งยืนและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ในขณะที่หลายพื้นที่กำลังเผชิญกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ชุมชนในพื้นที่ภูเขาหลายแห่งกลับใช้วิกฤตเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะเป็นการทำฟาร์มออร์แกนิก การผลิตสิ่งทอแบบยั่งยืน หรือการเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ไม่เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่ยังสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนในระยะยาว
หนึ่งในกลไกสำคัญที่กำลังพลิกชีวิตของชุมชนบนพื้นที่สูง คือโครงการฉลากผลิตภัณฑ์ Mountain Partnership Products (MPP) ซึ่งดำเนินการภายใต้การสนับสนุนของ FAO โครงการนี้เน้นการส่งเสริมสินค้าเกษตรและหัตถกรรมจากภูเขา เช่น กาแฟ น้ำผึ้ง และสิ่งทอท้องถิ่นคุณภาพสูง ผ่านระบบรับรองที่ให้ความสำคัญกับแหล่งผลิต ความเป็นธรรมในกระบวนการผลิต และคุณค่าทางวัฒนธรรมของแต่ละชิ้นงาน
ฉลาก MPP ไม่ใช่แค่เครื่องหมายของคุณภาพ แต่คือสะพานเชื่อมระหว่างผู้ผลิตรายย่อยในพื้นที่ห่างไกลกับตลาดโลก ช่วยเพิ่มรายได้อย่างเป็นธรรม ขยายโอกาสทางการค้า และสนับสนุนแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ในบางพื้นที่ผลลัพธ์เริ่มชัดเจน โดยเฉพาะในคีร์กีซสถาน ซึ่งกลายเป็นตัวอย่างของการนำแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้จริง โครงการเหล่านี้กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้ผลิตรายย่อยมากกว่า 50,000 คนที่อาศัยอยู่ในภูเขาห่างไกล
ขับเคลื่อนอนาคตภูเขา แผนปฏิบัติการห้าปีเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูง
ท่ามกลางความเปราะบางของระบบนิเวศภูเขาและแรงกดดันจากวิกฤตภูมิอากาศ โลกจำเป็นต้องมีกรอบความร่วมมือที่ชัดเจนและเข้มแข็ง เพื่อปกป้องชุมชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงอย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2565 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรอง “แผนปฏิบัติการห้าปีเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูง” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความตระหนักของประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาของประเทศภูเขา เพื่อให้แผนดังกล่าวเดินหน้าอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ความท้าทายเฉพาะของภูเขา จึงมีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐบาลคีร์กีซ ธนาคารโลก องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) หน่วยงานของสหประชาชาติ 17 แห่ง และองค์กรระดับภูมิภาคอีก 5 แห่ง ร่วมกันจัดทำ Global Framework ที่วางทิศทางสำคัญไว้ 5 ด้าน ซึ่งได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยที่ 78 เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 ดังนี้
- การยกระดับกระบวนการระดับภูมิภาคและระดับนานา ชาติในการสนับสนุนการพัฒนาภูเขา
- การเสริมสร้างนโยบาย กลไกการกำกับดูแล และสถาบัน
- การส่งเสริมการวิจัย นวัตกรรม และการเก็บรวบรวมข้อมูล
- การเพิ่มความตระหนักและการสื่อสารเกี่ยวกับประเด็น ความท้าทาย และแนวทางแก้ไขปัญหาของภูเขา
- การเพิ่มการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ยั่งยืน
ในเชิงปฏิบัติ คณะทำงานได้เสนอแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน 4 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนแผนให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนและยั่งยืน ดังนี้
แนวทางที่ 1 ขยายขนาดแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบในพื้นที่ภูเขา |
แนวทางที่ 2 ปรับปรุงการเข้าถึงบริการและโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนของชุมชนบนภูเขา |
แนวทางที่ 3 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ความมั่นคง และธรรมาภิบาลหลายระดับในพื้นที่สูง |
แนวทางที่ 4 เสริมสร้างศักยภาพของชุมชนบนภูเขาและลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับผู้หญิง เยาวชน ชนพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่น |
แผนปฏิบัติการนี้ไม่เพียงเป็นกรอบแนวคิดแต่กำลังถูกแปลงเป็นโครงการจริงในระดับประเทศและภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคง ยั่งยืน และเท่าเทียมให้กับชุมชนบนภูเขาทั่วโลก
การพัฒนาพื้นที่สูงในประเทศไทย
แนวทางการพัฒนาพื้นที่สูงในประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ภายใต้นโยบายด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนบนพื้นที่สูงอย่างมีทิศทางและต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งมิติของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี เพื่อให้การพัฒนาเกิดผลอย่างรอบด้านและยั่งยืนในระยะยาว

หัวใจสำคัญของนโยบายฉบับนี้อยู่ที่ 7 แนวทางหลัก ที่ถูกออกแบบมาให้สอดรับกับสภาพพื้นที่และบริบทของชุมชนบนพื้นที่สูงทั่วประเทศ เริ่มจากการขยายพื้นที่สูงแบบของโครงการหลวง ซึ่งเป็นต้นแบบที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น ตามมาด้วยการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบนพื้นที่สูงเพื่อสร้างฐานความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเฉพาะถิ่น พร้อมด้วยการยกระดับระบบการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่จะช่วยเปิดประตูโอกาสทางการศึกษาของประชาชนให้กว้างขึ้น
อีกหนึ่งแนวทางสำคัญคือ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการตลาดด้วยเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันของผลผลิตและบริการจากพื้นที่สูง ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจที่มั่นคงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมการจัดการที่ดินอย่างเป็นระบบ พร้อมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้ นโยบายยังเน้นการสร้างกลไกความร่วมมือในระดับพื้นที่และการยกระดับแผนบูรณาการแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้การดำเนินงานมีพลังจากทุกภาคส่วน ปิดท้ายด้วยการวางรากฐานสำคัญของอนาคต ด้วยการบริหารจัดการองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของการเดินหน้า “พัฒนาพื้นที่สูง” อย่างยั่งยืนในทศวรรษใหม่นี้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่เพียงแต่เห็นความสำคัญของ “พื้นที่” แต่ยังมองเห็น “คน” บนพื้นที่นั้นในฐานะหัวใจของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
พื้นที่สูงอาจอยู่ไกลแต่ไม่เคยห่างจากความเปลี่ยนแปลง
ตลอดบทความนี้ เราได้เห็นว่าพื้นที่สูงอาจดูไกลจากสายตา แต่ไม่ได้ไกลจากผลกระทบของโลกยุคปัจจุบัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่มั่นคงทางอาหาร และความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ฝังรากมายาวนาน สิ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นที่สูงจึงไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นภาพสะท้อนของระบบที่ทุกคนเกี่ยวข้อง การเข้าใจและฟังเสียงจากพื้นที่สูงให้มากขึ้น จึงไม่ใช่เพียงการเข้าใจภูมิประเทศ แต่คือการตระหนักว่าอนาคตของพื้นที่สูงเชื่อมโยงกับความมั่นคงของโลกทั้งใบ เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ทั้งต่อชุมชนและต่อโลกใบนี้
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เอกสารอ้างอิง
FAO. (2023). Five Years of Action for the Development of Mountain Regions. Retrieved from https://openknowledge.fao.org/server/api/core/bitstreams/f73b95cd-bce5-4829-add1-def6868e5233/content
FAO. (2025). FAO Director-General: Mountain regions have great potential despite climate, biodiversity and land degradation threats. Retrieved from https://www.fao.org/newsroom/detail/fao-director-general–mountain-regions-have-great-potential-despite-climate-biodiversity-and-land-degradation-threats/en
FAO. (n.d.). Director-General QU Dongyu. Retrieved from https://www.fao.org/director-general/biography/en
United Nations. (2025). Climate change: How mountain communities are scaling new heights. Retrieved from https://news.un.org/en/story/2025/04/1162556
มูลนิธิโครงการหลวง. (ม.ป.ป). โครงการหลวงโมเดล. สืบค้นจาก https://royalproject.org/page/model/
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. (2566). แผนปฏิบัติการ ด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) . สืบค้นจาก https://www.royalparkrajapruek.org/F5YearsHRDISustainableDevelopmentActionPlan
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. (ม.ป.ป). แนะนำ สวพส. สืบค้นจาก https://www.hrdi.or.th/About/Introduce