
ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศที่เติบโตขึ้นทั่วโลก และความพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ เรายังคงเห็นข่าวความรุนแรงต่อสตรีอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การคุกคามทางเพศ การทำร้ายทางจิตใจ หรือการเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่สาธารณะ ที่ทำงาน และแม้กระทั่งในครอบครัว ความขัดแย้งระหว่างการรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่การประกาศนโยบายหรือออกกฎหมายเท่านั้น การขจัดความรุนแรงต่อสตรีให้หมดสิ้นไปจำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน ทั้งด้านความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของคนในสังคม
บทความนี้จะสำรวจต้นตอของความรุนแรงต่อสตรีในมิติต่าง ๆ พร้อมชี้ให้เห็นว่าการยุติปัญหานี้ไม่ใช่แค่ “หน้าที่ของผู้หญิง” แต่คือความท้าทายของทุกคนในสังคมที่จะร่วมกันทลายวงจรความรุนแรงสร้างสังคมที่ปลอดภัยและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างแท้จริง
- สถานการณ์ความรุนแรงต่อสตรี วิกฤตที่ยังไม่จบในศตวรรษที่ 21
แม้โลกจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยความพยายามผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ แต่ผู้หญิง 1 ใน 3 ทั่วโลกยังคงต้องเผชิญกับความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศ ซึ่งตัวเลขนี้ไม่เพียงสะท้อนความล้มเหลวในการปกป้องสิทธิสตรี แต่ยังชี้ให้เห็นถึงวิกฤตที่ซับซ้อนและหยั่งรากลึกในโครงสร้างทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง
เมื่อตัวเลขที่สะท้อนความจริงอันน่าตกใจ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าผู้หญิงและเด็กหญิงประมาณ 800 คน เสียชีวิตทุกวัน จากภาวะแทรกซ้อนที่ป้องกันได้ระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตร ขณะที่ 38% ของการฆาตกรรมผู้หญิงทั่วโลกเกิดจากมือคู่ครอง ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่แค่สถิติแต่เป็นชีวิตจริงของผู้หญิงที่ต้องเผชิญความรุนแรงในทุกมิติของชีวิต
COVID-19 ตัวเร่งวิกฤตความรุนแรง การระบาดของโควิด-19 ได้เผยให้เห็นความเปราะบางของระบบคุ้มครองสตรี มาตรการล็อกดาวน์ที่มุ่งปกป้องประชาชนจากโรคระบาด กลับกลายเป็นดาบสองคมที่บีบให้ผู้หญิงต้องติดอยู่ในสถานการณ์อันตราย ต้องอยู่บ้านกับผู้กระทำความรุนแรง หลายประเทศรายงานว่าจำนวนผู้หญิงที่ขอความช่วยเหลือจากศูนย์คุ้มครองเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
ความไม่เท่าเทียมในโครงสร้างอำนาจ ในพื้นที่การเมืองซึ่งควรเป็นแบบอย่างของความเท่าเทียม ผู้หญิงมีสัดส่วนเพียง 26% ของสมาชิกรัฐสภาทั่วโลก และมีเพียง3 ใน 10 ของตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิง ตัวเลขนี้สะท้อนถึงอำนาจที่ไม่สมดุลในสังคม
ความเสี่ยงที่ซ้อนทับของกลุ่มเปราะบาง ผู้หญิงพิการและผู้หญิงผู้สูงอายุต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นทั้งการถูกควบคุมผ่านการกักเก็บยา อุปกรณ์ช่วยชีวิต และการทารุณกรรมทางการเงิน กล่าวคือ เป็นการจงใจเก็บยาที่จำเป็นไว้ไม่ให้ผู้หญิงพิการหรือผู้สูงอายุเข้าถึง การควบคุมการใช้ยาเพื่อสร้างอำนาจที่เหนือกว่าการทำให้อุปกรณ์เสียหาย การซ่อนไม้เท้า รถเข็น เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหว ตลอดจนการปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงบัญชีธนาคาร การยักยอกเงินบำนาญหรือเงินช่วยเหลือ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าผู้หญิงพิการมีโอกาสถูกกระทำความรุนแรงจากคู่ครองมากกว่าผู้หญิงทั่วไป
- นิยามและรูปแบบของความรุนแรงต่อสตรี: มองลึกปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้ความไม่เท่าเทียม
การทำความเข้าใจนิยาม ลักษณะ และรูปแบบของความรุนแรงต่อสตรี เป็นก้าวแรกสู่การแก้ไขปัญหา เพราะทุกการกระทำล้วนส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และอนาคตของสังคมโดยรวม
องค์การสหประชาชาติ (United Nations) นิยาม “ความรุนแรงต่อสตรี” ว่าการกระทำใด ๆ ที่มีรากฐานมาจากเพศสภาพ ซึ่งส่งผลหรืออาจส่งผลกระทบต่อผู้หญิงในหลายมิติ ทั้งทางร่างกาย เพศ จิตใจ และเศรษฐกิจครอบคลุมถึงการคุกคาม การบีบบังคับ และการลิดรอนเสรีภาพในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะหรือส่วนตัว
ความรุนแรงต่อสตรีมีผลกระทบต่อชีวิตผู้หญิงในหลายระดับ ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และเศรษฐกิจโดยลักษณะของความรุนแรงต่อสตรีสามารถจำแนกได้ดังนี้
- ความรุนแรงทางกายภาพ (Physical Violence) ซึ่งเป็นการกระทำที่ส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือบาดเจ็บ เช่น การทุบตี ผลักดัน หรือทำร้ายร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ ความรุนแรงประเภทนี้มักเห็นได้ชัดเจนที่สุดเพราะทิ้งร่องรอยทางกายภาพ
- ความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence) ครอบคลุมการกระทำที่ละเมิดสิทธิทางเพศ
โดยปราศจากความยินยอม ตั้งแต่การคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิด ไปจนถึงการข่มขืน รวมถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ - ความรุนแรงทางจิตใจ (Psychological Violence) เป็นการทำร้ายที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ ผ่านการกระทำต่าง ๆ เช่น การข่มขู่ ดูถูก ทำให้รู้สึกไร้ค่า หรือควบคุมพฤติกรรมเกินขอบเขต แม้จะไม่ทิ้งร่องรอยทางกายภาพ แต่ผลกระทบอาจรุนแรงและยาวนาน
- ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ (Economic Violence) เป็นการควบคุมผ่านมิติทางการเงิน
และทรัพยากร เช่น การจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงิน การควบคุมรายได้ หรือการบังคับในเรื่องการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตและการพึ่งพาตนเอง
ในสังคมปัจจุบัน เราเห็นปรากฎการณ์หรือพฤติกรรมการแสดงออกของความรุนแรงต่อสตรีที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน โดยรูปแบบของความรุนแรงต่อสตรี จำแนกได้ดังนี้

- ความรุนแรงทางเพศ
เป็นหนึ่งในรูปแบบของความรุนแรงที่พบบ่อยที่สุด ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ผู้หญิงทั่วโลก ไม่เพียงแต่สร้างความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและความเท่าเทียมทางเพศในระยะยาว อัตราการเกิดความรุนแรงทางเพศ 30% ของผู้หญิงทั่วโลก เคยถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศจากคู่ครองหรือบุคคลอื่นซึ่งหมายความว่าผู้หญิงกว่า 736 ล้านคน เผชิญกับประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศ นอกจากนี้ 6% ของผู้หญิงทั่วโลก รายงานว่าพวกเธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยบุคคลที่ไม่ใช่คู่ครอง
ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้หญิง 42% ของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายโดยคู่ครองได้รับบาดเจ็บทางกาย รวมถึงรอยฟกช้ำ กระดูกหัก หรืออาการบาดเจ็บร้ายแรง ซึ่งความรุนแรงทางเพศเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีโอกาสติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์สูงกว่า 1.5 เท่า บางกรณีเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV มากขึ้น นอกจากปัญหาสุขภาพทางกายแล้ว ความรุนแรงทางเพศยังทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า PTSD และความวิตกกังวล ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาว
ความรุนแรงทางเพศในที่ทำงานและในสังคม 35% ของผู้หญิงในบางประเทศ อาจเกิดขึ้นจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือลูกค้า จากการสำรวจของ UN ระบุว่า มากกว่า 15 ล้านคน
ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กหญิงอายุ 15 – 19 ปี นอกจากนี้ มากกว่า 27% ของผู้หญิงอายุ 15 – 49 ปี เคยถูกทำร้ายโดยคู่ครองในรูปแบบของความรุนแรงทางกายหรือทางเพศ
ความรุนแรงทางเพศในบริบทของสงครามและความขัดแย้ง เมื่อความรุนแรงทางเพศถูกใช้เป็น “อาวุธ” ในพื้นที่สงคราม เช่น การข่มขืนในช่วงสงคราม ความรุนแรงทางเพศที่กระทำต่อเชลยศึก ผู้หญิงและเด็กหญิงในพื้นที่ความขัดแย้งมักตกเป็นเหยื่อของการข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศ และการแสวงประโยชน์ทางเพศ สิ่งเหล่านี้ถูกใช้เพื่อทำลายขวัญและบ่อนทำลายศักดิ์ศรีของผู้หญิง
- การฆ่าผู้หญิง (Femicide)
เป็นการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางเพศ โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงถูกฆ่าโดยคู่ครองหรือสมาชิกในครอบครัว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกและสะท้อนถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในสังคม การฆ่าผู้หญิงโดยคู่ครองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับความเสี่ยงถึงชีวิต โดย 38% ของคดีฆาตกรรมผู้หญิงทั่วโลก เกิดจากคู่ครองหรืออดีตคู่ครอง หมายความว่าเกือบ 4 ใน 10 ของคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงเป็นผลมาจากความรุนแรงในครอบครัว
ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้อัตราการฆ่าผู้หญิงเพิ่มขึ้น ในช่วงล็อกดาวน์และมาตรการกักตัว ทำให้ผู้หญิงต้องอยู่ในบ้านกับคู่ครองที่ใช้ความรุนแรง ส่งผลให้อัตราการฆาตกรรมผู้หญิงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยองค์การสหประชาชาติเรียกสถานการณ์นี้ว่า “เงามืดของโรคระบาด” (Shadow Pandemic) สะท้อนถึงความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างเงียบ ๆ ภายในครัวเรือน
การฆาตกรรมผู้หญิงในครอบครัว จากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ปี 2022 ระบุว่า มีผู้หญิงประมาณ137 คน ถูกฆ่าตายทุกวันโดยคู่ครองหรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งนี่หมายความว่า ทุก ๆ ชั่วโมงมีผู้หญิงอย่างน้อย 6 คน ต้องเสียชีวิตจากความรุนแรงในครอบครัว
- การค้ามนุษย์
เป็นหนึ่งในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการแสวงหาผลประโยชน์จากมนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กหญิงมักตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณี การบังคับใช้แรงงาน และการบังคับแต่งงาน ปัญหานี้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงภาวะวิกฤต เช่น สงคราม ความขัดแย้ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงตกอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาผลประโยชน์
อัตราส่วนของเหยื่อการค้ามนุษย์ จากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ปี 2020 ระบุว่า 72% ของเหยื่อค้ามนุษย์เป็นผู้หญิงและเด็กหญิง โดยในบรรดาเหยื่อทั้งหมด 77% ถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ รวมถึงการบังคับค้าประเวณี การผลิตสื่อลามก และการล่วงละเมิดทางเพศ โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเมินว่า มีผู้คนอย่างน้อย4.8 ล้านคน ถูกบังคับให้ค้าประเวณี ในกลุ่มเหยื่อเหล่านี้ 99% เป็นผู้หญิงและเด็กหญิง
- การปฏิบัติที่เป็นอันตราย
เป็นผลมาจากค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีการเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการขลิบอวัยวะเพศหญิง (FGM) และการบังคับแต่งงานในวัยเด็ก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ การขลิบอวัยวะเพศหญิง (FGM) จากรายงานของ UNICEF (2023) พบว่า 200 ล้านคน ใน 31 ประเทศ โดยเฉพาะในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และบางส่วนของเอเชีย เคยผ่านการขลิบอวัยวะเพศหญิง และมักเกิดขึ้นกับเด็กหญิงอายุ 5 – 15 ปี โดยเชื่อว่าเป็นการรักษาความบริสุทธิ์ของผู้หญิงหรือเป็นการเตรียมตัวก่อนแต่งงาน ซึ่งการขลิบอวัยวะเพศหญิงไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์แต่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เด็กหญิงบางคนเสียชีวิตจากการขลิบอวัยวะเพศ เนื่องจากการเสียเลือดมากเกินไปหรือการติดเชื้อ
การแต่งงานในวัยเด็กและการบังคับแต่งงาน จากรายงานของ UNICEF พบว่า เด็กหญิง 12 ล้านคน ถูกบังคับแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี ทุกปี ปัจจุบันมี 650 ล้านคน ที่ยังมีชีวิตอยู่และเคยถูกบังคับแต่งงานในวัยเด็ก ส่งผลให้มีโอกาสถูกควบคุมและขาดอิสรภาพในชีวิตมากกว่าผู้หญิงที่แต่งงานเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ในวัยเด็กทำให้ทารกและแม่มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่า มีความเสี่ยงสูงต่อความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ
- ความรุนแรงทางออนไลน์
โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กหญิงต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศ การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ การแบล็กเมล์ด้วยข้อมูลส่วนตัว และการล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อดิจิทัล ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ แต่ยังอาจนำไปสู่ความรุนแรงในโลกจริงอีกด้วย อัตราการเกิดความรุนแรงทางออนไลน์ต่อเด็กหญิงและสตรีวัยหนุ่มสาว จากรายงานขององค์การ Plan International (2021) พบว่า 58% ของเด็กหญิงและสตรีวัยหนุ่มสาวเคยถูกคุกคามทางออนไลน์
ซึ่งรูปแบบของความรุนแรงออนไลน์ที่พบมากที่สุด ได้แก่ การส่งข้อความคุกคามทางเพศ การเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวหรือภาพลับโดยไม่ได้รับความยินยอม และการล่วงละเมิดทางเพศผ่านโซเชียลมีเดีย โดยผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางออนไลน์มักเผชิญกับความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า PTSD และความเครียดเรื้อรัง
ความรุนแรงต่อสตรียังคงเป็นปัญหาที่ท้าทายสังคมทั่วโลก แม้ในยุคที่ความเท่าเทียมทางเพศถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง สถานการณ์ความรุนแรงต่อสตรียังคงเป็นวิกฤตที่ซับซ้อนและหยั่งรากลึกในโครงสร้างทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง การทำความเข้าใจนิยาม ลักษณะ และรูปแบบของความรุนแรงต่อสตรีเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากผลกระทบของความรุนแรงส่งผลเป็นวงกว้างทั้งต่อสุขภาพกายและจิต สถานะทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาศักยภาพของสังคมโดยรวม
การยุติความรุนแรงต่อสตรีไม่เพียงเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนและเป็นธรรม การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในสังคมจะช่วยให้เราสามารถขจัดวงจรความรุนแรงนี้ได้ และนำไปสู่การสร้างอนาคตที่ปลอดภัยและเท่าเทียมสำหรับทุกคน
ใน Chapter 2 จะพาทุกคนสำรวจรากเหง้าของความรุนแรงต่อสตรีอย่างละเอียด เจาะลึกถึงสาเหตุและปัจจัยสำคัญที่ต้องเฝ้าติดตาม พร้อมทั้งสำรวจว่าเหตุใดบาดแผลที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนหนึ่งจึงสามารถลุกลามกลายเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งระบบ บทต่อไปจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ครอบคลุมต่อความซับซ้อนของประเด็นปัญหานี้
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เอกสารอ้างอิง
Hfocus. (2563). กรมการแพทย์เผย 4 แนวทางป้องกันความรุนแรงต่อเด็กและสตรี. สืบค้นจาก https://www.hfocus.org/content/2020/11/20506
Un Women. (2024). FAQs: Types of violence against women and girls. Retrieved from https://www.unwomen.org/en/articles/faqs/faqs-types-of-violence-against-women-and-girls
United Nations. (2025). World News in Brief: WHO chief asks US to reconsider withdrawal, gender parity remains distant goal, call for rethink on Nordic alcohol law change. Retrieved from https://news.un.org/en/story/2025/02/1159711
World Health Organization (WHO). (2020). Coronavirus disease (COVID-19): Violence against women. Retrieved from https://www.who.int/news-room/questions-and-answers/item/coronavirus-disease-covid-19-violence-against-women
World Health Organization (WHO). (2024). WHO calls for greater attention to violence against women with disabilities and older women. Retrieved from https://www.who.int/news/item/27-03-2024-who-calls-for-greater-attention-to-violence-against-women-with-disabilities-and-older-women
World Health Organization (WHO). (n.d.). Violence against women. Retrieved from https://www.who.int/health-topics/violence-against-women#tab=tab_1
ชลาศัย กันมินทร์. (2562.) ความรุนแรงในครอบครัว: ปัญหาและแนวทางป้องกัน. สืบค้นจาก https://rsucon.rsu.ac.th/files/proceedings/nation2019/NA19-136.pdf
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2557). 5 ข้อปฏิบัติ ป้องกันความรุนแรงในสตรี. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/?p=231270