ในระหว่างวันที่ 10 – 14 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นสัปดาห์แรกของการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development 2023: HLPF 2023) ที่จัดโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council: ECOSOC) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา คณะผู้แทนไทยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลง เพื่อแสดงจุดยืนของประเทศไทยในการขับเคลื่อน SDGs อย่างจริงจัง ในทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) และแสดงให้นานาประเทศเห็นว่าประเทศไทยได้ดำเนินงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน มีความมั่นคง อย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในที่ประชุม HLPF 2023 ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศ รัฐสังเกตการณ์ 2 ประเทศ และกลุ่มตัวแทน/ผู้มีส่วนได้เสีย (Major Groups & Other Stakeholders) ผู้แทนประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงใน 4 เป้าหมาย ได้แก่
- เป้าหมายที่ 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล โดยประเทศไทยมุ่งสร้างสังคมที่ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาดและเพียงพอมาอย่างต่อเนื่อง มีระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และมีการบริการสาธารณูปโภคที่เหมาะสม โดยยึดมั่นหลักการที่ว่า การเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนพึงจะได้รับ ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุ SDG 6 ของโลก และการดำเนินการตามวาระการพัฒนาน้ำอย่างจริงจัง (Water Action Agenda) ที่ได้มีการกล่าวถึงในการประชุม 2023 UN Water Conference เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
- เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ โดยไทยได้มุ่งดำเนินการใน 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ (1) การสร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้และเชื่อถือได้โดยถ้วนหน้า (2) การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก และ (3) การเพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโลกให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของโลก สร้างการเติบโตที่สมดุลที่มีคนและธรรมชาติร่วมกันเป็นศูนย์กลาง
- เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน โดยไทยได้ขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุ SDG 11 มาอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นการพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างพื้นที่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง หรือการดำเนินโยบาย “บ้านสำหรับทุกคน” (Housing for All) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
- เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในปีนี้ สหประชาชาติมุ่งเน้นที่การระดมทุนเพื่อการพัฒนา (Financing for Development) เนื่องจากสถานการณ์การระดมทุนของโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตตั้งแต่ช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด มีความต้องการเงินทุนเพื่อใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยได้มีถ้อยแถลงสนับสนุนประเด็นที่เลขาธิการ UN เรียกร้องให้ทั่วโลกระดมทุนเพื่อการพัฒนาปีละ 500 พันล้านเหรียญ สรอ. รวมถึงยังได้สนับสนุนแนวคิดความร่วมมือในการพัฒนาหลายประเด็น อาทิ การใช้ FinTech และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือใต้-ใต้ และ OCA Policy Brief on Reforms to the International Financial Architecture
ทั้งนี้ การกล่าวถ้อยแถลงของไทย โดยผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในครั้งนี้ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศ ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินการเพื่อให้บรรลุ SDGs ของโลก ซึ่งในรายงานของเลขาธิการ UN ฉบับล่าสุดชี้ให้เห็นว่ายังคงมีความท้าทายสูงมาก ในการนี้ ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนต่อนานาประเทศถึงความพร้อมที่จะร่วมกันก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน อย่างไม่ทิ้งพื้นที่ใดและผู้ใดไว้ข้างหลัง
สามารถค้นหาเอกสาร HLPF 2023 ได้ที่ https://hlpf.un.org/2023/documentation
เข้าดูรายงานฉบับเต็ม The Sustainable Development Goals Report 2023 ได้ที่ https://unstats.un.org/sdgs/report/2023/The-Sustainable-Development-Goals-Report-2023.pdf
เข้าดูวิดีทัศน์การประชุม HLPF 2023 และกล่าวถ้อยแถลงย้อนหลัง ได้ที่ https://media.un.org/en/webtv