
โลกกำลังเผชิญยุคใหม่แห่งวิกฤตสำหรับเด็กที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รายงานฉบับใหม่ล่าสุดจาก UNICEF “Prospects for Children in 2025: Building Resilient Systems for Children’s Futures” ชี้ให้เห็นแนวโน้มสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ผ่านประเด็นสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เศรษฐศาสตร์ (Economics) สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Environment and climate change) เทคโนโลยี (Technology) และธรรมาภิบาลโลก (Global governance) พร้อมนำเสนอแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับเด็กทุกคน
- ผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์ต่อเด็กและเยาวชนในยุคแห่งความขัดแย้ง
สถานการณ์ความขัดแย้งทั่วโลกส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในวงกว้าง จากข้อมูลในปี 2023 พบว่ามีเด็กถึง 473 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 6 ของประชากรเด็กทั่วโลก อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งและมีแนวโน้มว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2025 สิ่งที่น่ากังวลคือ การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อชีวิตเด็กและเยาวชนทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลกำลังกลายเป็นเรื่องปกติในพื้นที่ขัดแย้ง สะท้อนให้เห็นถึงการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขาดกลไกบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งการพลัดถิ่น ภาวะทุพโภชนาการ และปัญหาสุขภาพจิต
เมื่อมองลึกลงไปถึงรากเหง้าของปัญหา พบว่าการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และความอ่อนแอลงของความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงส่งผลต่อปัจจุบันเท่านั้นแต่ยังก่อให้เกิดความยากจนข้ามรุ่น เนื่องจากเด็กและเยาวชนสูญเสียโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ที่จำเป็น
แนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ควรมุ่งเน้นการบูรณาการความช่วยเหลือผ่านกรอบ Triple Nexus ขององค์การสหประชาชาติ ที่เชื่อมโยงการช่วยเหลือฉุกเฉิน การพัฒนา และการสร้างสันติภาพเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งเร่งผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศที่เข้มแข็งในการปกป้องเด็กและเยาวชนในพื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการสร้างระบบคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีโอกาสเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่
- ผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจโลกต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกกำลังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะ ปัจจุบันมีเด็กกว่า 400 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีภาระหนี้สูง ประเทศรายได้ต่ำต้องใช้งบประมาณในการชำระหนี้มากกว่าการลงทุนในเด็กและเยาวชน ถึง 11 เท่า สิ่งที่น่ากังวลคือ โครงสร้างระบบการเงินโลกที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงและเงื่อนไขการกู้ยืมที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศร่ำรวย ส่งผลให้รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาขาดงบประมาณสำหรับการลงทุนในบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชน ทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข
เมื่อมองลึกลงไปถึงรากเหง้าของปัญหา พบว่าสถานการณ์นี้สะท้อนถึงความล้มเหลวของแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่มองการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นเพียง “ค่าใช้จ่าย” แทนที่จะเป็น “การลงทุน” ในอนาคต การละเลยการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่วัยเด็กจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ
แนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ควรเริ่มจากการปฏิรูประบบการเงินโลก โดยเฉพาะการพิจารณารีเซ็ตหนี้ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดนโยบายการคลังที่จัดสรรงบประมาณอย่างน้อย 20% สำหรับการพัฒนาเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งการปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้เอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ไม่เพียงเป็นประเด็นทางจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนเพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว
- ผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่อเด็กและเยาวชน
วิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนทั่วโลกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ต้องแบกรับภาระถึง 88% ของโรคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศที่ถูกจัดสรรเพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กเพียง 2.4% ของทั้งหมด สิ่งที่น่ากังวลคือ การที่ไม่มีตัวแทนเด็กและเยาวชนในเวทีระดับโลก เช่น การประชุม COP ทำให้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมักถูกมองข้าม นอกจากนี้ กลไกการจัดสรรเงินทุนยังขาดการให้ความสำคัญกับความต้องการของเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในด้านสุขภาพและการศึกษา
เมื่อมองลึกลงไปถึงรากเหง้าของปัญหา พบว่าแม้เด็กและเยาวชนจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เสียงของพวกเขากลับไม่มีพื้นที่ในการกำหนดนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในอนาคต
แนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ควรมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเด็กและเยาวชนในคณะทำงานด้านสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับสหประชาชาติและระดับรัฐบาล พร้อมทั้งบูรณาการทักษะการรับมือกับภัยพิบัติเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ตลอดจนการปรับปรุงแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ให้คำนึงถึงความเปราะบางของเด็กและเยาวชนมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนการจัดสรรเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศที่มุ่งเน้นการปกป้องและพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ ซึ่งการให้ความสำคัญกับเด็กในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่เพียงเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความยุติธรรมระหว่างรุ่น (Intergenerational Justice) อีกด้วย
- การเข้าถึงเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน
โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสาธารณะ (Digital Public Infrastructure: DPI) ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการพื้นฐานสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสาธารณสุขสิ่งที่น่ากังวลคือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทั้งด้านอุปกรณ์และทักษะดิจิทัล โดยพบว่าเด็กผู้หญิงถึงร้อยละ 90 ในประเทศรายได้ต่ำยังไม่สามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ได้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและความเสี่ยงจากการถูกแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลของเด็กและเยาวชน
เมื่อมองลึกลงไปถึงรากเหง้าของปัญหา พบว่า ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการขาดความเข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการยอมรับและใช้งานเทคโนโลยี
แนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ควรพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลที่เข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย การผลักดันการออกกฎหมายและมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสร้างระบบการบูรณาการข้อมูลที่มีความปลอดภัย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจและการยอมรับเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีไม่ใช่เพียงการจัดหาอุปกรณ์หรือโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาทักษะ การสร้างความตระหนักรู้ และการคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนไปพร้อมกัน เพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กทุกคนอย่างแท้จริง
- ธรรมาภิบาลโลกกับการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน
สถานการณ์ธรรมาภิบาลโลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ เมื่อความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจส่งผลให้ความร่วมมือระหว่างประเทศอ่อนแอลง ขณะที่กรอบการทำงานระดับโลกขาดความเป็นเอกภาพในการรับมือกับวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน สิ่งที่น่ากังวลคือ แนวโน้มของการเมืองระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าการลงทุนเพื่ออนาคตของเด็กและเยาวชนอีกทั้งองค์กรระหว่างประเทศยังขาดอำนาจในการบังคับใช้นโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การดำเนินงานเพื่อปกป้องสิทธิเด็กและเยาวชนในระดับโลกเป็นไปอย่างล่าช้า
เมื่อมองลึกลงไปถึงรากเหง้าของปัญหา พบว่า วิกฤตในปัจจุบันต้องการผู้นำระดับโลกที่มีวิสัยทัศน์ในระยะยาว แม้ว่ากระบวนการการตัดสินใจไม่สอดคล้องกับความเร่งด่วนของปัญหา การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการตัดสินใจจึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ นอกจากนี้ UNICEF ควรขยายความร่วมมือไปสู่นักเคลื่อนไหวและศิลปินระดับโลก เพื่อใช้ Soft Power ในการสร้างความตระหนักรู้และแรงกดดันทางสังคม
แนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ควรมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนากลไกเชื่อมโยงกับกรอบการทำงานระดับโลก พร้อมทั้งสร้างระบบติดตามและประเมินผลความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการปรับปรุงธรรมาภิบาลโลกเพื่อปกป้องสิทธิเด็กและเยาวชน ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนทั้งในระดับโครงสร้างและทัศนคติ มุ่งสร้างสมดุลระหว่างความร่วมมือระดับโลกและการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
- อนาคตของเด็กและเยาวชน ในปี 2025
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้สะท้อนให้เห็นทั้งภัยคุกคามและโอกาสในการสร้างระบบให้มีความเข้มแข็งและเป็นธรรมมากขึ้น โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติมุมมองต่อเด็กและเยาวชน จากการมองว่าเป็นเพียง “กลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือ” ไปสู่การยอมรับว่าเด็กและเยาวชนคือ “พลังสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคต”
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เอกสารอ้างอิง
UNICEF. (2025). Prospects for Children in 2025: Building Resilient Systems for Children’s Futures. Retrieved from https://www.unicef.org/innocenti/reports/prospects-children-2025-global-outlook#report
United Nations. (2025). New era of crisis for children, as global conflicts intensify and inequality worsens. Retrieved from https://news.un.org/en/story/2025/01/1158771
United Nations. (2025). Prospects for Children in 2025: Building Resilient Systems. Retrieved from https://social.desa.un.org/sdn/prospects-for-children-in-2025-building-resilient-systems
กลับหน้าข่าวสารและบทความ