การมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงและสมบูรณ์เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศเนื่องจากจะทำให้ประชาชนสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ทั่วโลกจึงเห็นพ้องร่วมกันที่จะทำให้ประเด็นการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีสำหรับคนทุกช่วงวัยเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่จะต้องบรรลุผลให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยกำหนดเป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง การสร้างระบบบริการสาธารณสุขที่ทันสมัย มีคุณภาพและทั่วถึง ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจากโรคติดต่อและไม่ติดต่อ โรคอุบัติใหม่ อุบัติเหตุและสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบสาธารณสุขของไทยถือว่ามีความเข้มแข็งมาก โดยสะท้อนได้จากความก้าวหน้าของการดำเนินงานในหลายมิติ อาทิ อัตราการตายของมารดาต่อการเกิดมีชีพที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ 20.24 คน ต่อประชากรแสนคน ลดจาก 26.6 คน ต่อประชากรแสนคนในปี 2559 เช่นเดียวกับอัตราการตายของทารกแรกเกิดที่มีแนวโน้มลดลง โดยปี 2562 อยู่ที่ 3.1 คนต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ลดลงจาก 3.5 คนต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ในปี 2559 และจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ต่อประชากรที่ไม่มีการติดเชื้อ 1,000 คนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 อยู่ที่ 0.10 คน ลดลงจาก 0.13 คน ในปี 2559
นอกจากนี้ ความหนาแน่นและการกระจายตัวของบุคลากรด้านสาธารณสุขของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2563 ความหนาแน่นของแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 5.57 คนต่อประชากรหมื่นคน จากเดิม 4.84 คนต่อประชากรหมื่นคนในปี 2559 สอดคล้องกับข้อมูลความหนาแน่นและการกระจายตัวของทันตแพทย์ พยาบาลและเภสัชกรที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดตามตารางที่ปรากฏด้านล่าง
ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงได้รับการยอมรับว่ามีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และในปี 2564 ผลการจัดอันดับดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก (Global Health Security Index) เพื่อประเมินความพร้อมของประเทศในการรับมือกับโรคระบาด ซึ่งจัดทำโดย Nuclear Threat Initiative (NTI), Johns Hopkins Center for Health Security (JHU) และ Economist Impact ไทยอยู่ในลำดับที่ 5 จาก 195 ประเทศ มีคะแนน 68.2 จาก 100 คะแนน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 38.9 คะแนน โดยประเทศไทยมีคะแนนในด้านการตรวจจับโรคและการรายงานสูงที่สุดที่ 91.5 จาก 100 คะแนน ซึ่งเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่อยู่ใน 10 อันดับแรก เทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และแคนาดา
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคทางสุขภาพจิต ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนยังคงสูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนและเป็นอันดับต้นของโลก การเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากสารเคมีทางการเกษตร สารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และฝุ่นละออง PM2.5 เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายและการบูรณาการเพื่อลดและควบคุมการปล่อยมลพิษระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมถึงความรู้ในการป้องกันตนเองจากสารเคมีทางการเกษตรยังคงเป็นข้อจำกัดหนึ่งในการลดจำนวนผู้ป่วยจากการสัมผัสสารเคมีโดยตรง
ที่ผ่านมาภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเชิงนโยบายและดำเนินการในระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอย่างรอบด้าน อาทิ การพัฒนาระบบส่งต่อและการบูรณาการฐานข้อมูลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่อย่างครอบคลุม เพื่อตอบสนองนโยบายผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) การจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ปี 2561 – 2564 ที่เน้นย้ำการบริหารจัดการทั้งด้านผู้ใช้รถใช้ถนน ยานพาหนะ เส้นทาง และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในการควบคุมและกำจัดมลพิษทุกรูปแบบตั้งแต่ต้นเหตุในระดับพื้นที่
ถึงกระนั้นการที่ประเทศไทยจะสามารถบรรลุ SDGs โดยเฉพาะในเป้าหมายที่ 3 ทุกฝ่าย จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประเทศ ด้วยการหมั่นดูแลสุขภาพของตนเอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้สมดุล การลด ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ รวมถึงการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ในส่วนของภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาวะให้กับประชาชนอย่างรอบด้าน ตลอดจนดำเนินการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้แก่ประชากรกลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมมากขึ้น รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน และพัฒนาขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ และผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพและสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่คนไทยทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน
ประเด็น SDG 3 ที่ต้องเร่งแก้ไข
ผลการประเมินความก้าวหน้า SDG 3 ของไทยระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2563 พบว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง โดยมีสัดส่วนความสำเร็จเพียงแค่ 50 – 74% ของค่าเป้าหมาย ซึ่งแสดงค่าสถานะเป็นสีส้ม
ภาพรวมของ SDG 3 มีสถานะเป็นสีส้มเนื่องจากมีเป้าหมายย่อยที่มีอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเป้าหมายมากถึง 9 เป้าหมายย่อยจากทั้งหมด 13 เป้าหมายย่อย
โดยมีเป้าหมายย่อยที่มีสถานะการดำเนินการต่ำกว่าค่าเป้าหมายในช่วง 76 – 99 % จำนวน 5 เป้าหมายย่อย (SDG 3.5 3.7 3.8 3.a และ 3.b) โดยแสดงผลเป็นสีเหลือง เป้าหมายย่อยที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง แสดงผลเป็นสีส้ม ซึ่งมีสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมายในช่วง 51 – 75% จำนวน 1 เป้าหมายย่อย (SDG 3.3) และมีเป้าหมายย่อยที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต แสดงผลเป็นสีแดง ซึ่งมีสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมาย 50% จำนวน 3 เป้าหมายย่อย และถือเป็นประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ประกอบด้วย
- SDG 3.4 การลดการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ ซึ่งยังคงพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมถึงการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต
- SDG 3.6 การลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวยังสูงกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนด โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขับขี่ในขณะมึนเมา และการไม่เคารพกฎจราจร
- SDG 3.9 การลดการเสียชีวิตจากสารเคมีอันตราย มลพิษ และการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าว ยังคงอยู่ในระดับสูง และพบว่ามีมลพิษและสารเคมีปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร
ขอเชิญร่วมติดตามสถานการณ์ด้านสุขภาพและสาธารณสุขของไทยตามเป้าหมาย SDG 3 ในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2559 – 2563) ประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปถึงไหน ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง อะไรคืออุปสรรคสำคัญ และควรก้าวต่อไปอย่างไรเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ทันภายในปี 2573 https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2021/11/Thailands-SDGs-report-2016-2020-book_for-web-1.pdf
เรียบเรียงโดย นายวิชญ์พล เตชะวิวัฒนาการ