สำรวจสถานการณ์ความเสมอภาคระหว่างเพศของประเทศไทย
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 เป็นการมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของผู้หญิง โดยการจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ เพื่อให้เพศหญิงและเด็กหญิงมีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ และเพิ่มบทบาทของเพศหญิงทั้งในทางสังคม การทำงาน และทางการเมือง อย่างเท่าเทียม รวมถึงการส่งเสริมความเข้าใจและค่านิยมที่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน อาทิ สิทธิในการศึกษาและการทำงาน สิทธิที่จะตัดสินใจเลือกคู่ครองตามวัยที่เหมาะสม พร้อมทั้งยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ภาพรวมสถานะความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 ความเสมอภาคระหว่างเพศ ในระดับโลก
ที่มา: Sustainable Development Report 2023 https://dashboards.sdgindex.org/map/goals/SDG5/ratings
ทั้งนี้ จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2566 (Sustainable Development Report 2023) โดยเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) ได้ประเมินสถานะความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 5 ความเสมอภาคระหว่างเพศในภาพรวมของโลกว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ภายใต้ภาวะที่มีความท้าทายสำคัญจำนวนมาก (แสดงผลสีส้ม) โดยมีประเทศที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศได้แล้วเพียง 7 ประเทศ จากทั้งหมด 166 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน อันดอร์รา อาร์เจนตินา และนามิเบีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (กลุ่มประเทศ OECD)
โดยความท้าทายสำคัญในการสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศมีที่มาจากบรรทัดฐานและเจตคติที่ฝังรากลึกในสังคมมาอย่างยาวนาน จนเกิดเป็นทัศนคติที่ยึดติดกับความคิดทวิเพศ การจำแนกเพศชาย/หญิง ตามเพศกำเนิด มายาคติทางเพศที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การดูแคลน/ด้อยค่าผู้อื่นด้วยเหตุผลทางเพศสภาพ รวมไปถึงการไม่เคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้หญิงและเด็กของคนในสังคม โดยในหลายกรณีพบว่าผู้หญิงถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือระบบสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน การกำหนดบทบาทหน้าที่ให้เพศหญิงเป็นผู้รับผิดชอบงานบ้านเพียงลำพัง ทำให้การสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตครอบครัวเป็นไปได้ยากสำหรับผู้หญิง กระทั่งการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ์จากผู้คนรอบข้างอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากขาดทรัพยากรและโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพตนเอง หรือไม่สามารถเข้าถึงงานที่เหมาะสมและมีคุณค่าได้ อีกทั้งยังมีช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศ จากการกำหนดอัตราค่าจ้างที่แตกต่างกัน การได้รับโอกาสและการสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้นำไปสู่การจำกัดบทบาทและโอกาสของผู้หญิง (และเพศทางเลือก) ทั้งในภาคสาธารณะ เศรษฐกิจ และทางการเมืองที่ยังคงไม่เท่าเทียมกับเพศชาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมให้มีความครอบคลุม เสมอภาค และเป็นธรรม
สำหรับสถานการณ์ความเสมอภาคระหว่างเพศของประเทศไทย พบว่าภาพรวมความเสมอภาคระหว่างเพศชายและเพศหญิงปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality Index) ปี 2564 มีคะแนน 0.333 ดีขึ้นจาก 0.408 ในปี 2559 (ตามการปรับค่าดัชนีใหม่ของ UNDP) สะท้อนถึงพัฒนาการเรื่องความเสมอภาคทางเพศในสังคมไทย ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการบรรจุประเด็นดังกล่าวลงในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และแผนพัฒนาประเทศทุกระดับ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงความต้องการและความแตกต่างทางเพศ (Gender Responsive Budgeting: GRB) ทั้งเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศและเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในภาพรวม
ดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศของประเทศไทย
หมายเหตุ: ค่าดัชนีเข้าใกล้ 0 หมายถึงมีความเสมอภาคมากขึ้น
ที่มา: รายงานการพัฒนามนุษย์ (Human Development Reports 2021/2022), UNDP
โดยจากสถิติในปี 2563 พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนผู้หญิงที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร้อยละ 15.75 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.09 ในปี 2559 และสัดส่วนของบริษัทที่มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอย่างน้อย 1 คน ที่ร้อยละ 86 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 74 ในปี 2560 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีบทบาททางการเมืองและในภาคธุรกิจของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังพบว่าเพศหญิงมีแนวโน้มการถือครองที่ดินเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนการครอบครองที่ดินเพื่อการเกษตรของผู้หญิงต่อผู้ชาย ที่ 44.1 ต่อ 55.9 ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 36.3 ต่อ 63.7 ในปี 2556 นอกจากนี้ ยังมีสถิติการใช้อินเตอร์เน็ตของผู้หญิง อายุ 6 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนร้อยละ 65.6 เพิ่มขึ้นจาก 50.7 ในปี 2559
ในส่วนของการประเมินสถานะความก้าวหน้าการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 เพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศของไทย จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2566 ของเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยมีคะแนนรวมที่ดีขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามระยะเวลาที่กำหนดเนื่องจากยังคงมีความท้าทายที่สำคัญอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในภาคการเมืองการปกครอง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานความก้าวหน้า SDGsประเทศไทยในช่วง 5 ปีแรก (2559 – 2563) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่พบว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเป้าหมายถึง 7 เป้าหมายย่อย จากทั้งหมด 9 เป้าหมายย่อย โดยมีเป้าหมายย่อยที่มีสถานะการดำเนินการต่ำกว่าค่าเป้าหมายในช่วงร้อยละ 76 – 99 จำนวน 5 เป้าหมายย่อย ได้แก่ SDG 5.1 5.3 5.4 5.6 และ 5.a (แสดงผลสีเหลือง) และมีเป้าหมายย่อยที่มีสถานะการดำเนินการต่ำกว่าค่าเป้าหมายในระดับเสี่ยง (ร้อยละ 51 – 75) จำนวน 2 เป้าหมายย่อย ได้แก่ SDG 5.2 และ 5.5 (แสดงผลสีส้ม)
- SDG 5.2 ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น ซึ่งยังคงพบว่าการทำร้ายร่างกาย จิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ การถูกละเลยทอดทิ้ง และการถูกล่อลวงบังคับแสวงประโยชน์ในเด็กและผู้หญิงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความรุนแรงส่วนใหญ่มาจากบุคคลในครอบครัว
- SDG 5.5 สร้างหลักประกันว่า ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทาง การเมืองเศรษฐกิจและภาคสาธารณะ ซึ่งยังคงพบว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจระดับนโยบายน้อยกว่าผู้ชาย ทั้งในระดับการตัดสินใจทางการเมือง เศรษฐกิจ และการดำเนินการทางสาธารณะ เนื่องจากเจตคติ ค่านิยม วัฒนธรรมยังคงยึดติดกับบทบาทของผู้หญิงในการดูแลครอบครัวและทำงานบ้านเป็นหลัก
ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมไทยเกิดความเสมอภาคทางเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงในการเป็นกำลังสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนความเจริญของประเทศในทุกมิติ ประเทศไทยจึงมีภารกิจสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาด้านความรุนแรงต่อเพศหญิง และผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะสามารถมีส่วนร่วมและมีโอกาสที่เท่าเทียมทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมและครอบคลุม โดยความเสมอภาคทางเพศเป็นประเด็นที่สังคมไทยในยุคปัจจุบันให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้หลายภาคส่วนเริ่มมีการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศเพิ่มมากขึ้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ได้ผนึกกำลังเพื่อร่วมดำเนินโครงการสร้างสรรค์สังคมในรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น โครงการรณรงค์ “New Gen Say No – คนรุ่นใหม่ไร้ความรุนแรง” เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ โครงการ “ดราก้อนฟลาย 360 – Dragonfly 360” เพื่อรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความเสมอภาคทางเพศ โดยมุ่งส่งเสริมศักยภาพและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิง และการรณรงค์แนวคิด “งานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง สร้างความเข้าใจที่ดีภายในครอบครัว เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อลดช่องว่างมายาคติทางเพศในสังคมแห่งอนาคต ภาครัฐจึงควรเร่งส่งเสริมบทบาทของภาคการศึกษาและสื่อสารมวลชน ในการปลูกฝังทัศนคติที่ดีและสร้างบรรทัดฐานใหม่สำหรับสังคมแห่งอนาคต ให้ตระหนักถึงความสำคัญของความเสมอภาคทางเพศ และร่วมกันปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคนทุกเพศ โดยการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างลึกซึ้ง การจัดสรรทรัพยากร และออกแบบมาตรการที่สอดรับกับสถานการณ์และบริบททางสังคมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมให้ภาคการศึกษาและสื่อสารมวลชนมีบทบาทในการถ่ายทอดค่านิยมแห่งการเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของคนทุกเพศ รวมไปถึงการขยายโอกาสทางการศึกษาที่เอื้อต่อคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ พร้อมทั้งมุ่งสู่การพัฒนาสังคมที่ครอบคลุมและเป็นธรรมสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง
ขอเชิญร่วมติดตามสถานการณ์ด้านความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังแก่สตรีและเด็กหญิงทุกคนของไทย ตามเป้าหมาย SDG 5 ในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2559 – 2563) ประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปถึงไหน ดำเนินการอะไรแล้วบ้าง อะไรคืออุปสรรคสำคัญ และควรก้าวต่อไปอย่างไรเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ทันภายในปี 2573
รวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงโดย นายเจตนิพิฐ จันทรสนาม และนางสาวพจนาพร กริชติทายาวุธ