
ในโลกที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างไม่เท่าเทียมความยากจนไม่ใช่เพียงเรื่องของโชคชะตา แต่เป็นผลลัพธ์จากโครงสร้างที่เปราะบางและไม่เสมอภาคที่กดทับคนส่วนใหญ่ให้วนเวียนอยู่ในวงจรเดิม แม้จะมีงานทำ แม้เศรษฐกิจจะฟื้น แต่ความมั่นคงกลับหล่นหาย การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่จึงไม่เพียงหมายถึงความก้าวหน้า แต่ยังแฝงความไม่แน่นอนที่ส่งผลต่อชีวิตผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานเปราะบาง บทความนี้ชวนสำรวจว่า เหตุใด “ความยากจน” จึงยังคงอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยทรัพยากรและเทคโนโลยี และเพราะอะไรการหลุดพ้นจากความยากจนจึงไม่ใช่เรื่องของ “การทำงานหนัก” แต่คือการเข้าใจระบบที่ไม่เคยออกแบบมาเพื่อทุกคน
แรงงานในโลกที่ไม่มั่นคง: ความเหลื่อมล้ำ โอกาส และความท้าทายด้านการจ้างงาน
ในยุคที่โลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาสกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอย่างทั่วถึงหลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ที่คนรวยยิ่งรวยขึ้น ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังคงวนเวียนอยู่ในวงจรความยากจน โดยเฉพาะในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา ผู้ที่เกิดมาในครอบครัวยากจนมักมีแนวโน้มสูงที่จะอยู่ในสถานะยากจนต่อไปตลอดชีวิต และส่งต่อภาวะนี้ไปยังรุ่นลูกหลาน ซึ่งส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมกลายเป็นโครงสร้างที่ฝังรากลึก
แม้ในบางช่วงเวลา หลายประเทศจะสามารถลดความยากจนลงได้ในระยะสั้น แต่มักเป็นเพียงผลลัพธ์ชั่วคราวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การใช้จ่ายภาครัฐในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทว่าเมื่อแรงสนับสนุนชั่วคราวเหล่านี้สิ้นสุดลง กลุ่มประชากรเปราะบางกลับต้องเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม ประชากรทั่วโลกเกือบ 2 ใน 3 กำลังอาศัยอยู่ในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำที่ขาดทรัพยากรในการดูแลประชาชนในยามวิกฤต
ข้อมูลจาก Oxfam International ในปี 2024 ระบุว่า ประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 1% ของโลก ครอบครองทรัพย์สินมากกว่าประชากร 95% ที่เหลือรวมกัน และในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และจีน กลุ่มคนรวย 1% ข้างต้น มีรายได้รวมกันคิดเป็นมากกว่า 20% ของรายได้ทั้งประเทศ ภาพเหล่านี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันเอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนน้อยอย่างชัดเจน ขณะที่คนส่วนใหญ่กลับไร้อำนาจในการเข้าถึงโอกาสพื้นฐาน

ที่มา : United Nations (2025)
เศรษฐกิจที่เติบโต แต่ประชาชนกลับรู้สึกไม่มั่นคง แม้การพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในหลายมิติ เช่น การเข้าถึงอาหาร สุขภาพ และการศึกษา แต่การวัดผลผ่านรายได้หรือ GDP เพียงอย่างเดียวไม่สามารถสะท้อนความเป็นอยู่ที่แท้จริงได้ ปัจจุบัน 60% ของประชากรโลกยังไม่พึงพอใจกับชีวิต และกว่า 12% ต้องเผชิญกับภาวะทุกข์ทรมานจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความมั่นคงของผู้คนคือ รายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี แม้บางคนจะพ้นจากความยากจนระดับรุนแรง แต่ยังคงอยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำที่เปราะบาง ประชากรกว่า 690 ล้านคนทั่วโลกยังใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เส้นความยากจนขั้นรุนแรง ด้วยรายได้ต่ำกว่า 2.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และยังมีอีกมากกว่า 2.8 พันล้านคนที่มีรายได้ต่อวันเพียง 2.15 – 6.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนเผชิญกับความไม่มั่นคงตลอดเวลา หากเกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ[1] แม้เพียงเล็กน้อย เช่น โรคระบาดหรือวิกฤตภูมิอากาศก็สามารถทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะความยากจนอีกครั้ง
ตลาดแรงงานที่ดูเหมือนฟื้นตัว แต่ยังคงเปราะบาง ในปี 2023 นับเป็นปีที่อัตราการว่างงานทั่วโลกลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบสองทศวรรษ โดยอยู่ที่ 5% อย่างไรก็ตาม การมีงานทำไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเสมอไป แรงงานจำนวนมากยังคงอยู่ในตำแหน่งงานที่ไม่มั่นคง ไร้การคุ้มครอง และไม่มีหลัก ประกันทางสังคม ข้อมูลในปี 2022 ระบุว่า 1 ใน 5 ของผู้มีงานทำยังคงใช้ชีวิตอยู่ในความยากจนระดับปานกลางหรือรุนแรง และที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือ แรงงานราว 60% ทั่วโลกมีความกังวลว่าตนอาจตกงาน และไม่สามารถหางานใหม่ได้ ความไม่มั่นคงเหล่านี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มแรงงานทักษะต่ำ แต่ยังรวมถึงแรงงานที่มีการศึกษาและประสบการณ์ดี ซึ่งควรจะได้รับโอกาสเติบโตในเศรษฐกิจยุคใหม่ แต่กลับต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงและแรงกดดันด้านต้นทุนการดำรงชีวิต
ชีวิตที่ไม่มั่นคงของแรงงานนอกระบบ ในหลายภูมิภาคโดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง แรงงานส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระบบการจ้างงานที่ไม่เป็นทางการ (Informal Employment) ซึ่งหมายถึงการทำงานโดยไม่มีสัญญาจ้างชัดเจน ไม่มีสวัสดิการ หรือหลัก ประกันใด ๆ ทั้งสิ้น แม้จะมีความพยายามลดการจ้างงานนอกระบบในช่วงที่ผ่านมา แต่ผลลัพธ์กลับยังไม่เป็นรูปธรรม แรงงานนอกระบบจำนวนมากเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีทักษะต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะย้ายลงสู่ตำแหน่งงานที่เปราะบางยิ่งกว่าเดิม ขณะที่แรงงานที่อยู่ในระบบค่าจ้างทางการมักมีโอกาสคงสภาพความมั่นคงไว้ได้ดีกว่า สถานการณ์นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เพราะแม้แต่ประเทศที่มีรายได้สูง การจ้างงานแบบไม่มั่นคงก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Gig Economy[2] ซึ่งแม้จะเปิดโอกาสให้แรงงานมีความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ก็มาพร้อมกับความไม่มั่นคงทั้งในด้านรายได้ สุขภาพ และอนาคตระยะยาว
แรงงานกลุ่มเปราะบางและการสั่นคลอนของสัญญาประชาคม แรงงานหญิง เยาวชน และแรงงานที่อยู่นอกระบบเศรษฐกิจมักถูกมองข้ามในนโยบายการจ้างงาน แม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ แรงงานหญิงจำนวนมากทำหน้าที่ดูแลบ้านและครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งไม่ถูกนับเป็นแรงงานทางเศรษฐกิจ ทั้งที่สร้างมูลค่าทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกัน เยาวชนมากกว่า 20% ไม่ได้อยู่ในการจ้างงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (NEET)[3] สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบในการเชื่อมโยงแรงงานกลุ่มนี้กับโอกาสในตลาดแรงงาน สถานการณ์นี้กำลังบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสัญญาประชาคมที่ควรสร้างโอกาสที่เท่าเทียม
การปรับตัวของแรงงานในโลกยุคใหม่จึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของแรงงานเพียงฝ่ายเดียว รัฐจำเป็นต้องทบทวนบทบาทของตนในการสร้างระบบประกันความมั่นคง การฝึกอบรมทักษะใหม่ และการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
[1] ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ (Economic Shock) คือ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นกับตัวแปรพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตัวชี้วัดผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราการว่างงาน การบริโภค และอัตราเงินเฟ้อ
[2] Gig Economy คือ ระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว หรืองานที่รับจ้างแล้วจบไป ส่วนมากมักใช้เรียกพนักงานพาร์ทไทม์หรือฟรีแลนซ์
[3] Not in Education, Employment, or Training (NEET) คือ กลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ฝึกงาน หรือทำงาน
เบื้องหลังตัวเลขการว่างงานต่ำซ่อนความไม่มั่นคงในตลาดแรงงานยุคใหม่
แม้ว่านโยบายหลายประเทศพยายามลดช่องว่างนี้ แต่ก็ยังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ เช่น ระดับผลิตภาพแรงงานที่ต่ำ ซึ่งเป็นผลจากข้อจำกัดทางโครงสร้าง เช่น การขาดเงินทุน การเข้าถึงสินเชื่อ หรือทรัพยากรทางเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านแรงงานได้แม้จะต้องการก็ตาม นโยบายหลายประเทศจึงพยายามจัดการกับงานนอกระบบไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องแรงงาน
แต่ยังต้องการยกระดับเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างงานนอกระบบ ผลิตภาพแรงงาน และความยากจนนั้น ไม่ได้เป็นเส้นทางตรง แต่มีความซับซ้อนในสองทิศทาง ด้านหนึ่งธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำ มักไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน เพราะขาดทรัพยากรและการสนับสนุน และอีกด้านหนึ่งความยากจนในชนบททำให้คนไม่สามารถเข้าถึงงานในระบบได้ จึงหันไปทำงานนอกระบบแทน ซึ่งวนกลับมาสู่ความยากจนเรื้อรัง สะท้อนให้เห็นว่า งานนอกระบบเป็นผลลัพธ์ของปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านผลิตภาพต่ำและระดับการพัฒนาที่ยังไม่ทั่วถึง
การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการจ้างงานกำลังรื้อโครงสร้างเดิม งานนอกเวลา งานชั่วคราว และงานรับจ้างทั่วไป รวมถึงสัญญาจ้างงานแบบไม่มีชั่วโมงการทำงานขั้นต่ำ (Zero-hours Contracts) กำลังเพิ่มขึ้น และกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในหลายประเทศและกลายเป็นทางเลือกหลักในหมู่เยาวชน โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้สูง สถานการณ์นี้มีความชัดเจนเป็นพิเศษในยุโรป ซึ่งพบว่าแรงงานอายุ 20 – 24 ปี ที่มีสัดส่วนการทำงานแบบชั่วคราวถึง 41% เพิ่มขึ้นจาก 29% นอกจากนี้ กลุ่มแรงงานอายุ 35 – 39 ปี ก็มีสัดส่วนการจ้างงานแบบชั่วคราวเพิ่มจาก 11% เป็น 17% แนวโน้มนี้ชี้ให้เห็นถึงการลดลงของความมั่นคงในการจ้างงาน แม้ในช่วงวัยทำงานที่เคยถือว่าเป็นช่วงที่มีเสถียร ภาพสูงที่สุด

ที่มา : United Nations (2025)
การหลุดพ้นจากความยากจนไม่ใช่เส้นทางตรง แต่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แม้หลายประเทศจะสามารถลดอัตราความยากจนลงได้ แต่เบื้องหลังตัวเลขเหล่านั้นคือผู้คนจำนวนมากยังคงย้ายเข้า – ออกจากสถานะความยากจนอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ บางช่วงหลุดพ้นได้แต่ต่อมาก็อาจกลับมาตกอยู่ในความยากจนอีก เช่น ในชนบทของบังกลาเทศและกัมพูชา ประชาชนจำนวนมากสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2011 – 2019 และ 2008 – 2017 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการมีงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กรณีของเนปาล แม้จะมีอัตราการจ้างงานต่ำ แต่สามารถลดความยากจนได้หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดในปี 2006 โดยแรงผลักสำคัญคือเงินที่ถูกส่งกลับมาจากแรงงานในต่างประเทศสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ของหลายประเทศสะท้อนให้เห็นว่า การหลุดพ้นจากความยากจนมักเป็นเพียงระยะสั้น โดยมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถยืนหยัดได้เมื่อเผชิญกับวิกฤตส่วนตัวหรือระดับประเทศ ในเอธิโอเปียและชนบทของแซมเบีย มากกว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงติดอยู่ในภาวะยากจนเรื้อรัง

ที่มา : United Nations (2025)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้คนจนยิ่งเปราะบาง และยิ่งห่างไกลจากโอกาส
การพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจสีเขียวเปิดโอกาสให้เกิดงานใหม่ในหลายภาคส่วน แต่ในอีกด้านหนึ่ง แรงงานจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับการตกงาน โดยที่ยังไม่มีระบบใดรองรับการเปลี่ยนผ่านนี้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ความไม่แน่นอนจึงกลายเป็นเรื่องปกติของชีวิตแรงงานยุคใหม่ แต่ปัจจัยที่ส่งผลรุนแรงและไม่เป็นธรรมที่สุด คือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แม้กลุ่มคนที่ยากจนจะมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก แต่กลับได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ในปี 2019 ประชากรที่ยากจนที่สุด 50% ของโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 12% ของทั้งหมด แต่กลับเผชิญกับการสูญเสียรายได้ถึง 75% จากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ นั่นหมายความว่า คนจนไม่เพียงมีทรัพยากรน้อยกว่า แต่ยังต้องแบกรับต้นทุนจากวิกฤติที่พวกเขาไม่ได้สร้าง ผลลัพธ์คือความยากจนที่ไม่สามารถหลุดพ้นได้ง่ายและความเหลื่อมล้ำที่ถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นการเปลี่ยนแปลงนี้ยังขัดขวางความก้าวหน้าในการลดความยากจนทั่วโลก และยิ่งขยายช่องว่างระหว่างประเทศรายได้สูงกับประเทศรายได้ต่ำมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ในหลายประเทศจะมีความพยายามในการส่งเสริมความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมของกลุ่มเปราะบาง แต่หากไม่เร่งมือ ความเหลื่อมล้ำก็จะยังคงอยู่ และคนจำนวนมากจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งในปี 2030 และอีกหลายสิบปีข้างหน้า
วงจรของความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความไม่ไว้วางใจในระบบ กำลังคุกคามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกทำให้การแก้ปัญหายากขึ้น และสร้างความท้าทายในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง

ที่มา : United Nations (2025)
ประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทายเมื่อเยาวชนจำนวนมากหลุดออกจากระบบการพัฒนา
ในสังคมไทยปัจจุบัน เยาวชนจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้ทำงาน และไม่ได้ฝึกอบรม หรือที่เรียกกันว่า NEET (Not in Employment, Education or Training) ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่า มากกว่า 20% ของเยาวชนไทยอยู่ในสถานะนี้ สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนเพียงความเปราะบางของเยาวชน แต่ยังแสดงให้เห็นถึงช่องว่างเชิงโครงสร้างที่ระบบเศรษฐกิจและการศึกษายังไม่สามารถเชื่อมโยงโอกาสให้แก่พวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ประเทศไทยจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่วางเป้าหมายอย่างชัดเจนในการให้ “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” ซึ่งแผนฉบับที่13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่ย้ำประเด็นสำคัญอย่างหมุดหมายที่ 9 การลดความยากจนข้ามรุ่น และหมุดหมายที่ 12 การพัฒนาคน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า เยาวชนที่อยู่ในกลุ่ม NEET ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่อยู่ในระดับรายได้ต่ำสุด 40% ของประเทศ ซึ่งหมายความว่าความยากจนไม่เพียงเป็นต้นตอ แต่ยังเป็นอุปสรรคขัดขวางการใช้การศึกษาเป็นบันไดเลื่อนชนชั้นทางสังคม เด็กที่ยากจนที่สุดและไม่ได้เรียน ย่อมไม่อาจมีโอกาสไต่ระดับคุณภาพชีวิตขึ้นไปได้ง่าย ๆ หากปล่อยให้ปัญหานี้เรื้อรังความยากจนข้ามรุ่นก็จะยิ่งหยั่งรากลึกพร้อม ๆ กับความเหลื่อมล้ำที่ฝังแน่นยิ่งกว่าเดิม
แม้จะพยายามวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้เยาวชนกลายเป็น NEET ผ่านข้อมูลเชิงสถิติระดับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นความยากจน อัตราการว่างงาน หรือการเข้าเรียน แต่แบบจำลองก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าปัจจัยใดเป็นตัวแปรหลักอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ปัญหา NEET มีความซับซ้อนหลากหลายเกินกว่าจะใช้แนวนโยบายแบบเดียวกันทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมองหาทางออก สังคมมักพูดถึงแนวทางการศึกษาที่ยืดหยุ่น (Flexible Education) หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งแม้จะเป็นแนวคิดที่ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับล่าสุด แต่การนำไปใช้ในทางปฏิบัติกลับพบว่าอุปสรรคสำคัญอยู่ที่การออกแบบระบบให้เข้าถึงได้จริง
ทางออกที่เป็นไปได้มากกว่าคือ การเปลี่ยนบทบาทของรัฐจากผู้จัดมาเป็นผู้กำกับดูแลและรับรองมาตรฐาน พร้อมส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดระบบการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งอาจมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากกว่า หากจะปรับระบบให้เท่าทันกับความเป็นจริง สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การแก้ด้วยนโยบายขนาดใหญ่ แต่คือการมีกลไกในระดับพื้นที่ที่จะสามารถ “ช้อนเด็กกลับเข้าสู่ระบบ” ได้ทันก่อนจะหลุดหายไป การแก้ไขปัญหานี้จึงไม่เพียงเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาและแรงงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสังคมในภาพรวม หากสามารถดึงเยาวชนกลับเข้าสู่ระบบการเรียนรู้หรือฝึกทักษะได้สำเร็จ สังคมจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล ทั้งในแง่ลดปัญหายาเสพติด ความรุนแรงในวัยรุ่น ความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ในทางกลับกัน หากละเลยเยาวชนกลุ่มนี้จะกลายเป็นภาระของรัฐในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในสวัสดิการหรือโอกาสทางเศรษฐกิจที่สูญเปล่า และที่สำคัญที่สุดคือสังคมจะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่ควรได้รับการพัฒนาให้เติบโตเต็มศักยภาพ
ประเทศไทยในบริบทของความยากจนหลายมิติ เมื่อความจนไม่ใช่แค่เรื่องเงิน
แม้ประเทศไทยจะลดระดับความยากจนทางรายได้ได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ในปี 2566 สามารถลดสัดส่วนประชากรที่ยากจนในหลายมิติลงเหลือ 6.13 ล้านคน หรือประมาณ 8.76% ของประชากรทั้งหมด นับเป็นก้าวสำคัญในการขยับเข้าใกล้เป้าหมายระยะยาว แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปในมิติต่าง ๆ ของชีวิตประชาชน กลับพบว่าความยากจนไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรื่องเงินเท่านั้น ปัญหาในด้านสุขภาพ การศึกษา และคุณภาพชีวิตยังคงปรากฏอย่างเด่นชัด พบว่า มีประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่มคนจนหลายมิติ จำนวน 4.78 ล้านคน คิดเป็น 66.7% ของผู้ที่ยากจนทั้งหมด โดยเฉพาะปัญหาในด้านสุขภาพและการศึกษา ซึ่งยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตัวเลขระบุว่า 1.04 ล้านคน หรือ 14.5% ยังคงขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และ 1.35 ล้านคน หรือ 18.%8 ยังขาดโอกาสทางการศึกษาอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับวงจรความยากจนในระยะยาวโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและชายขอบ
นอกจากนี้ ยังมีประชากรกว่า 24.3 ล้านคน หรือ 34.7% ที่จัดอยู่ในกลุ่ม “เสี่ยงต่อความยากจนหลายมิติ” ซึ่งหมายความว่า หากขาดการสนับสนุนอย่างเพียงพอ กลุ่มนี้อาจถดถอยสู่ความยากจนได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางที่ยังมีความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของน้ำบริโภคอุปโภค การเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือการมีหลัก ประกันทางสังคมที่มั่นคง
ปัญหาความยากจนไม่เท่ากันทุกพื้นที่จึงไม่ควรแก้ด้วยนโยบายเดียวกันทั้งหมด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พัฒนา “ดัชนีความยากจนหลายมิติ” (Multi-dimensional Poverty Index: MPI) เพื่อใช้ติดตามความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายย่อยที่ 1.2 มุ่งลดจำนวนประชากรที่เผชิญความยากจนในทุกรูปแบบลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ก้าวข้ามการวัดความจนด้วยรายได้เพียงอย่างเดียว และหันมาเน้นการวิเคราะห์คุณภาพชีวิตโดยรวม
การใช้แนวทางแก้ปัญหาที่เหมือนกันในทุกพื้นที่อาจไม่สอดคล้องกับบริบทที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ในภาคกลาง ปัญหาด้านความมั่นคงทางการเงินมีผลกระทบสูงต่อความยากจนหลายมิติ ขณะที่จังหวัดชายแดนใต้กลับเผชิญความยากจนที่ทวีความซับซ้อนจากปัจจัยหลายด้านพร้อมกัน ขณะเดียวกัน ประเทศยังต้องเผชิญความท้าทายในระดับชาติ เช่น ภาระหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ความยากจนในไทยไม่สามารถแก้ได้ด้วยการมองเพียงเศรษฐกิจครัวเรือน แต่ต้องเข้าใจระบบรองรับที่เปราะบางตั้งแต่โครงสร้าง
การสร้างความมั่นคงในมิติต่าง ๆ ยังเป็นโจทย์ที่ยากและต้องการแนวทางใหม่ แม้รัฐจะมีเป้าหมายช่วยเหลือและเยียวยาผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง แต่ความมั่นคงทางการเงินยังคงเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อความยากจนหลายมิติ ความเปราะบางนี้ไม่เพียงแค่เกิดจากรายได้ไม่พอ แต่รวมถึงการไม่มีหลักประกันในอนาคต เช่น ระบบบำนาญที่ยังเข้าถึงประชาชนได้น้อย แรงงานส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคนอกระบบ ขาดสิทธิคุ้มครองที่มั่นคง หรือแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่มีสถานะชัดเจนและไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าเทียม
ประเทศไทยต้องคิดใหม่เรื่องเป้าหมายและเครื่องมือในการลดความยากจน
แนวทางในการลดความยากจนหลายมิติในอนาคตจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทั้งในแง่เป้าหมาย ตัวชี้วัด และการนำข้อมูลมาใช้งาน ดัชนี MPI ควรถูกปรับเกณฑ์ให้ท้าทายมากขึ้น โดยสะท้อนถึงมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพสูงขึ้น เช่น การนำรายได้สุทธิ หรือระดับการออมของครัวเรือนมาเป็นองค์ประกอบเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ต้องเร่งส่งเสริมการใช้ MPI เป็นเครื่องมือในการแยกแยะกลุ่มเป้าหมายเพื่อการออกแบบ Policy Package ที่เหมาะสมกับข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่ และนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบการจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งสนับสนุนจังหวัดที่ยังมีระดับความยากจนสูงหรือฟื้นตัวจากความยากจนได้ช้ากว่าค่าเฉลี่ย การลดความยากจนหลายมิติจึงไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข แต่เป็นเรื่องของคุณภาพนโยบาย และความสามารถในการเข้าใจประชาชนในแต่ละกลุ่มอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
ความยากจนไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ของรายได้ที่ไม่เพียงพอ แต่คือสัญญาณเตือนถึงระบบที่ยังไม่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเติบโตได้อย่างเท่าเทียม เมื่อปัจจัยพื้นฐานของชีวิต เช่น สุขภาพ การศึกษา หรือความมั่นคงในการทำงาน ยังคงกระจายตัวอย่างไม่เสมอ ความยากจนจึงกลายเป็นกับดักที่ยากจะหลุดพ้น แม้ตัวเลขบางช่วงอาจดูเหมือนดีขึ้น แต่เบื้องหลังคือชีวิตที่ยังอ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
หากเราต้องการอนาคตที่ยั่งยืนกว่าเดิม คำถามสำคัญอาจไม่ใช่แค่ว่า “จะช่วยคนจนอย่างไร” แต่คือ เรากำลังสร้างระบบแบบไหน ที่ทำให้คนบางกลุ่มต้องจนซ้ำซากตั้งแต่ต้นทาง การออกแบบนโยบายจึงต้องเริ่มจากการฟังเสียงของผู้ที่อยู่ในโครงสร้างเปราะบาง และตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำในแบบที่เฉพาะเจาะจง ไม่เหมารวม เพราะท้ายที่สุดแล้ว สังคมจะก้าวหน้าได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลังเพียงเพราะระบบไม่รองรับ
กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เอกสารอ้างอิง
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2565). Youth unemployment : ส่องตลาดแรงงานเด็กจบใหม่ยุค COVID 19. สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/regional-articles/reg-article-2022-05.html
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2568). รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 4/2567. สืบค้นจาก https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=socialoutlook_report
ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์. (2568). ‘สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของประเทศคือเยาวชน’ ลด NEETs – แก้การศึกษาเพื่ออนาคต กับ ปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์. สืบค้นจาก https://www.the101.world/patima-chongcharoentanawat-interview/
Ditto Thailand. (2567). Gig Economy เทรนด์ของคนทำงานยุคใหม่ที่ทุกองค์กรควรรู้. สืบค้นจาก https://www.dittothailand.com/th/dittonews/what-is-gig-economy/
Investopedia. (2023). What Is an Economic Shock & Effects of Different Types. Retrieved from https://www.investopedia.com/terms/e/economic-shock.asp
The Potential. (2564). ‘NEET’ คนที่ล้มเหลวหรือผลผลิตจากระบบการศึกษาไทย : คุยกับ ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ. สืบค้นจาก https://thepotential.org/social-issues/neet/
United Nations. (2025). Trust collapsing as job fears surge worldwide, warns UN. Retrieved from https://news.un.org/en/story/2025/04/1162561
United Nations. (2025). World Social Report 2025: A New Policy Consensus to Accelerate Social Progress. Retrieved from https://desapublications.un.org/sites/default/files/publications/2025-04/250422%20BLS25022%20UDS%20UN%20World%20Social%20Report%20WEB.pdf