ความท้าทายและข้อเสนอแนะสู่การบรรลุ SDGs ของไทย
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายถือเป็นวาระสำคัญที่ประเทศไทยและทั่วโลกต่างเห็นพ้องร่วมกันที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงภายใน ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดำเนินไปอย่างสมดุลและเป็นเครื่องรับประกันว่าจะสามารถส่งมอบอนาคตที่ดีมีคุณภาพให้แก่คนรุ่นถัดไปได้
ถึงแม้ข้อมูลจาก “รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563” จะบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าเรื่องการขับเคลื่อน SDGs โดยไม่มีเป้าหมาย (Goal) ใดที่ได้รับการประเมินให้มีระดับคะแนนที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤตที่ร้อยละ 50 ซึ่งมีค่าสีแสดงสถานะเป็นสีแดงแต่เมื่อประเมินในระดับเป้าหมายย่อย (Target) แล้วกลับพบว่ายังคงมีอยู่ถึง 9 เป้าหมายย่อยที่มีระดับคะแนนต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต หรือ สีแดง ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยอย่างมาก
ผลการประเมินในระดับ 169 เป้าหมายย่อยของ SDGs ไทย ช่วงปี 2559 – 2563
โดยทั้ง 9 เป้าหมายย่อยดังกล่าวประกอบด้วย
เป้าหมายย่อยที่ 2.1 การยุติความหิวโหยและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ พบว่าในปี 2562 ไทยมีความชุกของภาวะขาดสารอาหารอยู่ที่ร้อยละ 8.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.3 ในปี 2558 สอดคล้องกับข้อมูลความชุกของความไม่มั่นคงทางอาหารของประชากรในระดับปานกลางหรือรุนแรงซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 29.8 ในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.1 ในปี 2558 ขณะเดียวกันยังพบอีกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนยากจนมักขาดสารอาหารและมีภาวะเตี้ยแคระแกร็นมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมให้ประชาชน เข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนยากจนและเปราะบางยังเป็นความท้าทายสำคัญของไทย
เป้าหมายย่อยที่ 2.2 การยุติภาวะทุพโภชนาการ พบว่าความชุกของภาวะทุพโภชนาการในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีทั้งที่มี ภาวะเตี้ยแคระแกร็น ภาวะผอมแห้งและภาวะอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและยังสูงกว่าค่าเป้าหมายโภชนาการระดับโลก พ.ศ. 2568 (Global Nutrition Targets 2025) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีบางครัวเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มยากจนและเปราะบาง ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงโครงการส่งเสริมสุขภาพด้านโภชนาการที่รัฐจัดให้ ในขณะที่สัดส่วนเด็กที่มีภาวะอ้วนอาจเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ทำให้เด็กได้รับพลังงานมากจนเกินไปหรือได้รับสารอาหารหลักในสัดส่วนที่ไม่สมดุล
เป้าหมายย่อยที่ 2.4 ระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ในปี 2563 ไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 1.15 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 1.0 8 ล้าน ไร่ ในปี 2560 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเป้าหมายของยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ที่กำหนดให้มีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 7.5 ล้านไร่ และ 10 ล้านไร่ภายในปี 2568 และ 2573 ตามลำดับอยู่มาก ทำให้มีแนวโน้มว่าอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด
เป้าหมายย่อยที่ 3.4 การลดการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ การเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ภาวะเครียด สิ่งแวดล้อมในเมืองที่เสื่อมโทรม รวมทั้งความท้าทายเชิงระบบสาธารณสุข อาทิ ข้อจำกัดในการบูรณาการข้อมูลทางสาธารณสุขของหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและเอกชนเพื่อการรักษาอย่างเหมาะสม การส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีความคล่องตัว การกระจุกตัวของบุคลากรและอุปกรณ์ทางสาธารณสุขในพื้นที่เมือง
เป้าหมายย่อยที่ 3.6 การลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ถึงแม้จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2559 – 2563 แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้มีการลดจำนวนการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนครึ่งหนึ่งภาย ในปี 2563 สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตมาจากการขับขี่ยานพาหนะโดยมีระดับแอลกอฮอล์เกินกว่าปริมาณที่กำหนด การขับขี่ยานพาหนะเกินความเร็วที่กฎหมายอนุญาต และการขาดความรู้และจิตสำนึกที่ดีในการใช้ท้องถนน
เป้าหมายย่อยที่ 3.9 การลดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตราย มลพิษ และการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ยังคงพบว่าการปล่อยและการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2562 ระบุว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยมีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการตายที่เกิดจากการได้รับสารพิษโดยไม่ตั้งใจในปี 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากร้อยละ 0.1 ในปี 2559
เป้าหมายย่อยที่ 10.C การลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ ประเทศไทยยังคงมีอัตราค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมของการดำเนินการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานย้ายถิ่นและการชำระเงินระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง โดยในปี 2561 มีอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการส่งเงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ กลับต่างประเทศของแรงงานย้ายถิ่นเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 10 และมีอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8.94 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและยังสูงกว่าค่าเป้าหมาย SDGs ที่กำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 3 และร้อยละ 5 ตามลำดับ
เป้าหมายย่อยที่ 14.1 การลดมลพิษทางทะเล ยังคงพบปัญหามลพิษทางทะเล ซึ่งรวมถึงขยะทะเล สารเคมีและมลพิษจากธาตุอาหาร อันเป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมทั้งบนบกและในทะเล ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม การสะสมของสารเคมีจากภาคเกษตร การรั่วไหลของน้ำมัน และเศษซากขยะในทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติก ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
เป้าหมายย่อยที่ 14.5 การอนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ไทยประกาศพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองที่ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งรวม 15,336 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 4.74 ของพื้นที่ทางทะเลทั้งหมดของประเทศ อย่างไรก็ดี พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งที่มีการประกาศไปแล้วยังคงห่างจากค่าเป้าหมายที่ร้อยละ 10 ค่อนข้างมาก และยังมีข้อจำกัดในการระบุพิกัดและขนาดพื้นที่โบราณคดีใต้น้ำจึงยังไม่สามารถนำคำนวณรวมกับพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งที่ประกาศไปแล้ว
จากความท้าทายของ SDGs ไทยทั้ง 9 ข้อ ผนวกกับการที่สหประชาชาติกำหนดให้ปี 2564 เป็นจุดเริ่มต้นของ “ทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง” (Decade of Action) จึงทำให้ไทยจึงควรเร่งแก้ไขปัญหา ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างมุ่งมั่นเพื่อบรรลุ SDGs ให้ได้ภายในปีพ.ศ. 2573
ในรายงานดังกล่าวจึงได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ 5 ประการสำคัญดังนี
(1) เร่งแก้ไขปัญหาและปรับปรุงสถานการณ์ใน 9 เป้าหมายย่อยที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต (สีแดง) ที่ระบุไว้แล้วในข้างต้น รวมไปถึงอีก 34 เป้าหมายย่อยที่มีคะแนนการดำเนินการต่ำกว่าค่าเป้าหมายในระดับเสี่ยงที่ร้อยละ 50 – 74 ของค่าเป้าหมาย (สีส้ม) โดยเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขจัดความยากจน การเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคม ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี การค้ามนุษย์ การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดและปลอดภัย การเข้าถึงข้อมูลและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการทุจริตคอร์รัปชั่น
(2) บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่เกื้อกูล (synergy) และเป็นแรงหนุนให้เป้าหมายย่อยอื่น ๆ สามารถประสบผลสำเร็จได้ในคราวเดียวกัน เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจนตามเป้าหมายที่ 1 จะเกื้อหนุนให้เกิดความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อขจัดความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการในเป้าหมายที่ 2 ลดความเหลื่อมล้ำในเป้าหมายที่ 10 ตลอดจนส่งเสริมการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเป้าหมายที่ 3
(3) สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพื่อปลุกจิตสำนึกความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคม เนื่องจาก SDGs เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ดังนั้นหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันวิชาการ องค์กรอิสระ องค์กรไม่แสวงหากำไร และองค์การระหว่างประเทศ จะต้องมีจิตสำนึกในการสร้างสังคมที่มีความยั่งยืน เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน
(4) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางและระบบการติดตามประเมินผลให้มีมาตรฐานสากล โดยนำเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลายมาใช้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้มีการออกแบบนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
(5) เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยใช้หลักการ “ล้มแล้ว ลุกไว (Resilience)” เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากในอนาคตอาจเกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงที่จะเข้ามากระทบต่อการขับเคลื่อน SDGs ได้ โดยเห็นได้จากบทเรียนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของความท้าทายในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินการในระยะต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุ SDGs ได้ตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ และก้าวไปสู่โลกที่ยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง
สามารถติดตามรายละเอียดการประเมินความก้าวหน้า SDGs ของไทยในภาพรวมได้ที่: https://sdgs.nesdc.go.th/exhibitions/brightleapforward2021/report2016-2020/ รวมไปถึงติดตามและรับข่าวสารความเคลื่อนไหวการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทยได้ที่: https://sdgs.nesdc.go.th