สำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย
ความเหลื่อมล้ำ หมายถึง ภาวะของความไม่เท่าเทียมกันในแง่ต่าง ๆ [1] ทั้งในเชิงของสถานะ สิทธิ และโอกาส หรือในความหมายที่เจาะจงโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ซึ่งมักหมายถึงความเหลื่อมล้ำทางรายรับ หรือในความหมายที่กว้างกว่านั้นคือ ความเหลื่อมล้ำในบริบทการใช้ชีวิต ความเหลื่อมล้ำในนิยามอื่น ๆ อาทิ สิทธิ หรือ กฎหมาย
ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยนั้นพบได้ในหลายมิติ[2] ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ระหว่างกลุ่มคนที่จนที่สุดกับกลุ่มคนที่มีฐานะดีที่สุด มีความแตกต่างของรายได้เกือบ 16 เท่า ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยมีความจำเป็นต้องก่อหนี้สินเพิ่มขึ้นเพื่อการดำรงชีพ กลุ่มผู้มีรายได้สูงซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้จึงมีโอกาสสะสมความมั่งคั่งมากกว่า ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สิน โดยกลุ่มที่มีรายได้สูงร้อยละ 10 มีการถือครองทรัพย์สินเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ บ่งบอกถึง ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง อีกทั้งยังพบว่าประเทศไทยยังมี ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ จากการเจริญเติบโตและกระจุกตัวทางเศรษฐกิจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีความแตกต่างกับพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่นอกเขตเมืองอื่น ๆ ทั้งในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากร อันส่งผลต่อเนื่องต่อการจัดสรรทรัพยากรและคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหา ความเหลื่อมล้ำในการดำเนินธุรกิจ โดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 99 ของกิจการทั้งหมดและอัตราจ้างงานกว่า ร้อยละ 70 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ กลับมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพียงร้อยละ 34.6 เท่านั้น[3] ในขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจนำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เนื่องจากกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมักขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ ขาดทักษะดิจิทัล ขาดทุนในการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ยิ่งขาดโอกาสการมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ
สาเหตุของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีด้วยกันหลายประการ[4] ประการแรก โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่มีการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึงและผลประโยชน์กระจุกตัว อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณ โดยหวังผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาคการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ จึงมีแนวโน้มที่จะเอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของทุนมากกว่าแรงงาน นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกลุ่มที่ขาดหลักประกันทางสังคมและการเข้าถึงสวัสดิการสังคมได้จำกัด อยู่ในสัดส่วนสูงถึง 19.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 52 ของผู้มีงานทำ 37.7 ล้านคน[5] ประการที่สอง โครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งมีลักษณะรวมศูนย์ ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เช่น การศึกษา การพัฒนาทักษะฝีมือ สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เป็นต้น โดยบริการสาธารณะที่มีคุณภาพส่วนใหญ่มีการกระจุกตัวหนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งเมืองใหญ่ประจำภูมิภาค ประการที่สาม กระบวนการยุติธรรม ซึ่งยังคงเป็นข้อจำกัดสำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เนื่องจากการมีค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ระยะเวลาในการดำเนินคดีที่ยาวนานทำให้เกิดต้นทุนสะสมที่สูง รวมทั้งการเน้นแบบแผนขั้นตอนปฏิบัติของทางราชการโดยเคร่งครัด ต้องมีเอกสารหลักฐานครบถ้วน การใช้ภาษาที่ยากต่อการเข้าใจ เป็นต้น
เป้าหมายที่ 10: ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Reduce inequality within and among countries) จึงมีเป้าประสงค์ที่เน้นการเติบโตของรายได้ในกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่ยากจนที่สุด (Bottom 40) ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ โดยไม่เลือกปฏิบัติ ขจัดนโยบายและผลของนโยบายที่นำไปสู่ความไม่เสมอภาคโดยใช้นโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม เป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ[6]
การประเมินสถานะความก้าวหน้าการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 10 ของไทย จากรายงานความก้าวหน้า SDGs ประเทศไทยในช่วง 5 ปีแรก (2559 – 2563)[7] ของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเป้าหมายถึง 6 เป้าหมายย่อย จากทั้งหมด 10 เป้าหมายย่อย โดยมีเป้าหมายย่อยที่มีสถานการณ์ดำเนินการต่ำกว่าค่าเป้าหมายในช่วง (ร้อยละ 76 – 99) จํานวน 4 เป้าหมายย่อย ได้แก่ SDG 10.2 10.3 10.4 และ10.5 (แสดงผลสีเหลือง) มีเป้าหมายย่อยที่มีสถานะการดำเนินการต่ำกว่า ค่าเป้าหมายในระดับเสี่ยง (ร้อยละ 51 – 75) จํานวน 1 เป้าหมายย่อย ได้แก่ SDG 10.7 (แสดงผลสีส้ม) และมีเป้าหมายย่อยที่มีสถานการณ์ดำเนินการต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต (ต่ำกว่าร้อยละ 50) จํานวน 1 เป้าหมายย่อย ได้แก่ 10.c
- SDG 10.7 อำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายของคนให้เป็นไปด้วยความสงบ ปลอดภัย เป็นไปตามระเบียบ และมีความรับผิดชอบ รวมถึงให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี ถึงแม้ประเทศไทยจะพัฒนานโยบายและกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานต่างชาติมากขึ้นในระยะที่ผ่านมา แต่ยังคงพบช่องว่างในการบังคับใช้กฎระเบียบและกฎหมายอยู่ ส่งผลให้ไทยยังประสบปัญหาด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบผิดกฎหมาย นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านการจ้างงาน ซึ่งทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างและมีอัตราการจ้างกลับเข้าทำงานลดน้อยลง แรงงานข้ามชาติบางส่วนต้องเดินทางกลับประเทศในช่วงที่สถานการณ์มีความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานการณ์การจ้างงานในระยะหลังจะมีแนวโน้มดีขึ้นแต่สภาพการจ้างงานอาจเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงานมากขึ้น ยกเว้นแรงงานประเภท 3D ได้แก่ งานที่ต้องสัมผัสกับสิ่งสกปรก (dirty job) งานที่อันตราย (dangerous job) และงานที่ยากลำบาก (demanding หรือ difficult job) ซึ่งยังคงต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเช่นเดิม
- SDG 10.c ลดค่าธรรมเนียมการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานย้ายถิ่น (migrant remittance) ให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 และขจัดการชำระเงินระหว่างประเทศ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าร้อยละ 5 ภายในปี 2573 แรงงานย้ายถิ่นของไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ยังมีจำนวนมากที่เข้าออกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และบางส่วนขาดความรู้ในการเข้าถึงบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่มีต้นทุนต่ำ ส่งผลให้แรงงานเลือกใช้ช่องทางนอกระบบ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีค่าธรรมเนียมสูงกว่าช่องทางในระบบ แต่มีความยืดหยุ่นและสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าดำเนินการผ่านระบบหรือสถาบันการเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน การส่งเงินกลับประเทศผ่านช่องทางในระบบ อาทิ ธนาคาร มีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก โดยมีการเรียกเก็บข้อมูลและเอกสารสำคัญจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการบริการสำหรับแรงงานย้ายถิ่นจำนวนมาก
ในส่วนของรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยปี 2564[8] ของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทย ในปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 โดยค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ด้านรายได้ ในปี 2564 มีค่าอยู่ที่ 0.430 เพิ่มขึ้นจาก 0.429 ในปี 2562 ทั้งนี้ ข้อสังเกตหนึ่งสำคัญประการหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลังจากการเกิดวิกฤตต่าง ๆ
หากพิจารณาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้โดยจำแนกประชากรออกเป็น 100 กลุ่มตามระดับรายได้ (percentile by income) พบว่าในระดับภาพรวมตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (ปี 2531 – 2564) รายได้ที่แท้จริงของคนในกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงและต่ำ (percentile ที่สูงและต่ำ) มีแนวโน้มโน้มเข้าหากันมากขึ้น อย่างไรก็ตามความแตกต่างของระดับรายได้ที่แท้จริงระหว่างประชากรกลุ่มรายได้น้อย percentile ที่ 1 – 10 และประชากรที่รวยที่สุด (percentile 100) ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยรายได้ที่แท้จริงของคน percentile ที่ 1 – 10 เฉลี่ยประมาณ 2,096 บาทต่อคนต่อเดือน ในขณะที่รายได้ที่แท้จริงของคน percentile ที่ 100 อยู่ที่ 89,784 บาทต่อคนต่อเดือนหรือคิดเป็น 42.8 เท่า ทำให้แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ในระดับสูง (สำหรับกลุ่มที่มีรายได้น้อย) และมีแนวโน้มโน้มเข้าหากัน แต่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประเทศอาจไม่สามารถลดลงได้อย่างชัดเจนมากนัก เพราะอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่สูงในกลุ่มคนรวยจะมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทำให้การลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนเป็นไปได้อย่างจำกัด
นอกจากนี้เมื่อจำแนกประชากรออกเป็น 10 กลุ่มรายได้ (decile by income) พบว่าในปี 2564 มูลค่าทรัพย์สินรวมเฉลี่ยของประชากรในทุกกลุ่มรายได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยกลุ่ม Middle 50 (decile 5 – 9) เป็นกลุ่มที่มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าทรัพย์สินรวมสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 12.4 ส่วนกลุ่ม Top 10 (decile 10) มีระดับอัตราการขยายตัวรองลงมาอยู่ที่ร้อยละ 10.5 และกลุ่ม Bottom 40 (decile 1 – 4) มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.4 จะเห็นได้ว่าแม้ว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าทรัพย์สินรวมเฉลี่ยในกลุ่ม Middle 50 จะอยู่ในระดับสูงและมากกว่ากลุ่ม Top 10 ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มภาพรวมความเหลื่อมล้ำของการ ถือครองทรัพย์สินดีขึ้น แต่หากพิจารณาจากมูลค่าทรัพย์สินรวมเฉลี่ยของกลุ่ม Top 10 กลับแสดงให้เห็นถึง ระดับความแตกต่างที่ค่อนข้างสูง ในด้านส่วนแบ่งมูลค่าทรัพย์สินรวมจะเห็นได้ว่า ส่วนแบ่งมูลค่าทรัพย์สินรวมของกลุ่ม Top 10 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย มาอยู่ที่ร้อยละ 31.2 ของทรัพย์สิน รวมทั้งประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งมูลค่าทรัพย์สินรวมของกลุ่ม Bottom 40 กลับลดลง ต่างจากกลุ่ม Middle 50 ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก สถานการณ์ดังกล่าวจึงยิ่งส่งผลให้ช่องว่างระหว่างกลุ่ม Bottom 40 และกลุ่ม Top 10 ในปี 2564 เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในภาพรวมของโลกจากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจําปี 2566 (Sustainable Development Report 2023)[9] โดยเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) ได้ประเมินสถานะความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 10 ในภาพรวมของโลกว่ายังอยู่ใต้ภาวะที่มีความท้าทายมาก (แสดงผลสีส้ม) โดยมีแนวโน้มที่ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ซึ่งสภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้น แม้แต่ในกลุ่มประเทศ OECD หรือประเทศรายได้สูงก็ประสบกับภาวะดังกล่าวเช่นกัน
ที่มา: Sustainable Development Report 2023 (https://dashboards.sdgindex.org/map/goals/SDG10)
ที่มา: Sustainable Development Report 2023 (https://dashboards.sdgindex.org/chapters/part-2-the-sdg-index-and-dashboards)
กล่าวโดยสรุป แม้ว่าความพยายามในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคมในช่วง 5 ปีแรกของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2559 – 2563) จะส่งผลให้ประเทศไทยมีความคืบหน้าที่ดีขึ้น แต่เมื่อต้องประสบกับผลกระทบจากแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ขยายตัวขึ้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวของโครงสร้างทางเศรษฐกิจต่อภาวะวิกฤติและความท้าทายในโครงสร้างทางสังคมไทยที่ยังคงมีอยู่ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยใช้มาตรการและการปรับปรุงกฎเกณฑ์ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้และผลประโยชน์จากการพัฒนาให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ การปฏิรูประบบจัดเก็บภาษี การยกระดับสวัสดิการทางสังคมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมขั้นพื้นฐานเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งการส่งเสริมการใช้กลไกพลังทางสังคมต่าง ๆ เพื่อสร้างพลังความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 10 ไปด้วยกัน ตามหลักการของการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
รวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงโดย นายคุณากร ตันติจินดา
อ้างอิง
[1] Development Strategy and Policy Analysis Unit. (2015). Concepts of Inequality.
สืบค้นจาก https://www.un.org/en/development/desa/policy/wess/wess_dev_issues/dsp_policy_01.pdf)
[2] สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2564). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สิบสาม พ.ศ.2566-2570.
สืบค้นจาก https://www.nesdc.go.th/download/Plan13/Doc/Plan13_DraftFinal.pdf
[3] สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. รายงานสถานการณ์ MSME ปี2565.
สืบค้นจาก https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20220930104334.pdf
[4] อติวิชญ์ แสงสุวรรณ. ความเหลื่อมล้ำ. กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สํานักวิชาการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
สืบค้นจาก https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=29688
[5] สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สรุปผลที่สำคัญการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2564.
สืบค้นจาก http://www.nso.go.th/sites/2014en/Survey/social/labour/informalEmployment/2021/PocketBook2021.pdf
[6] SDG 10 : Reduce Inequality Within and Among Countries.
สืบค้นจาก https://www.globalgoals.org/goals/10-reduced-inequalities/
[7] สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563.
สืบค้นจาก https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2021/11/Thailands-SDGs-report-2016-2020-book_for-web-1.pdf
[8] สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยปี 2564.
สืบค้นจาก https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=13081
[9] Sustainable Development Solutions Network. Sustainable Development Report 2023.
สืบค้นจาก https://s3.amazonaws.com/sustainabledevelopment.report/2023/2023-sustainable-development-report.pdf
สามารถดาวน์โหลดไฟล์บทความ SDG 10 สำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทย_PDF